การกลับมาของเสียง

 

"ข้อสังเกต : พระไตรปิฎก การกลับมาของเสียงพระพุทธเจ้า"

ในที่สุดสารคดีไตรปิฎก คำสอนมีชีวิต ก็มาถึงตอนสุดท้าย "การกลับมาของเสียงพระพุทธเจ้า"


โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542

ผู้ที่ติดตามสารคดีทั้ง 12 ตอน คงได้พบแล้วว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เผยแผ่ในประเทศต่างๆ ล้วนมีชีวิตที่มีความหลากหลาย และผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่นจนมิอาจแยกได้ แต่ท่ามกลางความหลากหลายนี้ยังมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ เสียงคำสอนดั้งเดิมในพระไตรปิฎก ซึ่งบันทึกเป็นเสียงปาฬิ  ที่ในสารคดีเรียกว่า ปาฬิภาสา Pāḷi Bhāsā (ไทยเราเรียกกันว่า ภาษาบาลี) 


พระราชทาน ฉบับสัชฌายะ แก่วชิราวุธวิทยาลัย

เสียงปาฬิเมื่อแพร่ไปในดินแดนต่างๆ ชาวพุทธจึงนำอักษรท้องถิ่นมาใช้เขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ของตน 


การเขียนเสียงปาฬิ ด้วยอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436
 

คำถามจึงมีว่า อักขรวิธีเขียนเสียงของชาติต่างๆ เหล่านี้ อักขะระใดมีประสิทธิภาพในการรักษาเสียงปาฬิดั้งเดิมไว้ได้แม่นตรงที่สุด?

ในตอนต้นสารคดีได้พาผู้ชมไปยังประเทศลาว เพื่อพบกับปัญหาของคณะสงฆ์ในการนำเนื้อหาจากพระไตรปิฎกมาเผยแผ่ในปัจจุบัน เพราะนอกจากต้นฉบับพระไตรปิฎกปาฬิภาสาเป็นภาษาโบราณที่ประชาชนทั่วไปไม่อาจเข้าใจแล้ว การสืบค้นพระไตรปิฎกภาคแปลเป็นภาษาท้องถิ่นจากเนื้อหาที่มากมายนับ 40-45 เล่ม เป็นสิ่งที่ยากลำบาก ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยสืบค้น

ช่วงหลังของสารคดีเป็นการตามหาเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกในประเทศไทย อาทิ ลายลักษณ์อักษรในพระไตรปิฎกที่สืบทอดมาในอดีตเป็นอย่างไร ? อักขะระขอมบันทึกพระไตรปิฎกมีหลักฐานอย่างไร ? และการสืบหาต้นฉบับพระไตรปิฎกที่เป็นชุดหนังสือช่วยให้ชาวพุทธเข้าถึงเสียงพระธัมม์เที่ยงแท้ได้อย่างไร ?


ฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436

ในช่วงเวลาอันน้อยนิด สารคดีชุดนี้ ได้พาเราไปพบกับข้อมูลสำคัญ นั่นคือ พระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือเป็นชุดแรกของโลก โดยปริวรรตจาก "อักษรขอมโบราณ" เป็น "อักษรสยาม" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งปัจจุบันพบว่าได้พระราชทานเป็นพระธัมมทานไปในนานาประเทศทั่วโลกถึง 260 ชุด มีภาพพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม กับราชบัณฑิตไทยและราชบัณฑิตนอรเวย์ค้นพบต้นฉบับชุดหนึ่ง ณ หอสมุดมหาวิทยาลัยกรุงออสโล ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชาวไทยไม่เคยได้รับรู้มาก่อน และเป็นประเด็นสำคัญของภูมิปัญญาไทยในการอนุรักษ์พระไตรปิฎก ที่สามารถสร้างเป็นสารคดีได้อีกชุดหนึ่งทีเดียว 


ต้นฉบับ จ.ป.ร. ณ หอสมุดมหาวิทยาลัยกรุงออสโล

สิ่งที่สารคดีนำเสนอต่อไปเป็นการเปิดประเด็นใหม่ของพระไตรปิฎกศึกษาในอนาคต นั่นคือ รูปเขียนด้วย "อักษรสยาม" สามารถบันทึกเสียงปาฬิดั้งเดิมที่แม่นตรงได้เพียงใด 


อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ

สารคดีพาเราไปศึกษาผลงานของโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ตามพระบัญชาในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร อันเป็นโครงการที่รวบรวมนักวิชาการสหสาขาวิชาและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อไขปัญหาการบันทึกเสียงปาฬิ 

โครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ชุด 40 เล่ม สำเร็จในปี พ.ศ. 2548 ในการนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์การพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฎกสากลในนานาประเทศ ตามรอยพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ข้อมูลพระไตรปิฎกอักษรโรมันชุดนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการออกเสียงปาฬิ


สมเด็จกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

 

จากการสัมภาษณ์อาจารย์สุรธัช บุนนาค รองประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล และหัวหน้าคณะผู้ประดิษฐ์สิทธิบัตรในพระไตรปิฎกสากล ที่นำเสนอสมมุติฐานว่า ฉบับ จ.ป.ร. นอกจากเป็นนวัตกรรมการพิมพ์ชุดหนังสือพระไตรปิฎกเป็นชุดแรกแล้ว อักขรวิธีที่เรียกว่า "สยามปาฬิ" ยังเป็นนวัตกรรมการเขียนเสียงด้วย สัทอักษร (Phonetic Alphabet) หรือ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า "สัททะอักขะระปาฬิ" (Saddʰa Akkʰara Pāḷi) เป็นการเขียนเสียงปาฬิในทางภาษาศาสตร์เป็นชุดแรกของโลกด้วย ดังนั้น การออกเสียงตามการพิมพ์ในพระไตรปิฎก จปร. ตามอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ย่อมเป็นหลักฐานหนึ่งของวัฒนธรรมพระไตรปิฎกไทยในการอ้างอิงทางเสียงที่สำคัญที่สุด


หัวหน้าคณะผู้ประดิษฐ์สิทธิบัตรในพระไตรปิฎกสากล


อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436


สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ พ.ศ. 2559

โครงการพระไตรปิฎกสากลได้อ้างอิงผลงาน "การถอดเสียงปาฬิ" (Pāḷi Phonetic Transcription) ของ อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 ปรมาจารย์ด้านพระไตรปิฎกปาฬิ ผู้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านปาฬิภาสาเป็นคนแรกของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งร่วมงานกับ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ นักภาษาศาสตร์ผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์เป็นแห่งแรกของไทย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสรุปได้ว่า อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ดังกล่าว มีนวัตกรรมการเขียนเครื่องหมายทางเสียง หรือ "สัททสัญลักษณ์" (Phonetic Symbol) กล่าวคือ เสียงสะกด ได้แก่ ไม้วัญฌการ (อ์) และเครื่องหมายเสียงกล้ำ ได้แก่ ไม้ยามักการ (อ๎) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมาย สระ-อะ ที่พ้องรูปกับไม้หันอากาศในภาษาไทย  ซึ่งเรื่อง อักขรวิธีต่างๆ (Orthographic Writings) นี้ อาจารย์วิจินตน์ เรียกว่า ไม้-อะ (อั) เพราะมิได้ทำหน้าที่เป็นเสียงสะกด แต่ทำหน้าที่เสียงที่ไม่สะกด คือ [อะ] แต่เป็นเสียง สระ-อะ ที่เป็นเสียงคะรุ คือ การลากเสียงให้นานขึ้นเป็นสองมาตรา (ดูไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 Du-mhi Garu) ซึ่งเป็นการถอดรหัสอักษรสยามที่มีความสำคัญในการบูรณาการต่อไปเป็นโน้ตเสียงละหุ และโน้ตเสียงคะรุ ในทางดุริยางคศาสตร์ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง

ผลงานการถอดเสียงปาฬิเป็นสัททะอักขะระปาฬิในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์เบื้องต้นได้ถูกตรวจสอบด้วย "สูตรสกัดคณิตศาสตร์ 61 ข้อ" สกัดขึ้นโดยศาสตราจารย์ ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แห่งราชบัณฑิตยสภา โดยอาจารย์ได้ศึกษาตัวอย่างคำ 18 คำ ซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 


ศาสตราจารย์ ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์

สูตรสกัดของอาจารย์ชิดชนกจึงเป็นข้อพิสูจน์ความเป็นเอกภาพและแม่นตรงของการแบ่งพยางค์สยาม-ปาฬิ สูตรสกัดชุดนี้เองที่เป็นพื้นฐานสำคัญยิ่งที่ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถต่อยอดเขียนโปรแกรมการแบ่งพยางค์อัตโนมัติในระบบดิจิทัลจนสามารถได้รับสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2557 


หลักฐาน MRI การออกเสียงปาฬิ

ในตอนจบสารคดีแสดงให้เห็นถึงการนำหลักการต่างๆ ในทางไวยากรณ์พระไตรปิฎก โดยเฉพาะการแบ่งพยางค์ ไปบูรณาการเป็น "โน้ตเสียงปาฬิ" (Pāḷi Notation) ในทางดุริยางคศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ดวงใจ ทิวทอง และรองศาสตราจารย์ ดร. ศศี พงศ์สรายุทธ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันเป็นนวัตกรรมการเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกที่ไม่เคยมีมาก่อน


ศาสตราจารย์ดวงใจ ทิวทอง


รองศาสตราจารย์ ดร. ศศี พงศ์สรายุทธ

กล่าวโดยสรุป การค้นคว้าการออกเสียงปาฬิ หรือที่โครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า "เสียงสัชฌายะ" (Saj-jʰā-ya Recitation) เป็นเบื้องหลังของการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (Sajjʰāya Phonetic Edition) ชุด ภปร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) พ.ศ. 2559 ชุด 80 เล่ม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราขเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้ทรงริเริ่มไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว จึงเป็นความพยายามตามรอยเสียงพระธัมม์เที่ยงแท้ที่เดิมเขียนด้วยอักษรขอมโบราณได้มีการเปลี่ยนผ่านเป็นสัทสัญลักษณ์ โดยอ้างอิงกับพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม และกำลังจะมีการเผยแผ่ต่อไปด้วยเทคโนโลยีทางเสียงที่นำสมัยในอนาคต


โน้ตเสียงปาฬิสัชฌายะดิจิทัล

สารคดีจบด้วยภาพของท่านผู้หญิง ดร. ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลในขณะนั้น นำคณะกรรมการมูลนิธิฯ เข้าเฝ้าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อกราบทูลเรื่องการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และชุด ส.ก. ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2559 ทรงพระกรุณารับเป็นประธานการสร้างน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวาระที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พ.ศ. 2559


มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เฝ้าสมเด็จพระสังฆราช

เสียงสัชฌายะดิจิทัลที่นำเสนอในสารคดีนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเสียงคำสอนของพระพุทธเจ้าในอดีต 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ กลับมาให้ยุวชนชาวไทยได้สดับ ศึกษา และฝึกฝนการออกเสียงให้แม่นตรงต่อไป..


โรงเรียนสยามสามไตร

ข้อสังเกต สารคดี by Dhamma Society on Scribd