การอ้างอิงพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ

สรุปการอ้างอิงพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ
ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2559 ชุด 80 เล่ม

การออกเสียงสัชฌายะ
มีหลักอ้างอิงที่สำคัญ 5 ประการดังนี้ :

1. สัชฌายะ (Sajjhāya Recitation)
สัชฌายะในโครงการพระไตรปิฎกสากล หมายถึง การออกเสียงพระไตรปิฎกตาม ชุดสัทอักษรที่เขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก หรือที่โครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมถ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เรียกว่า สัททะอักขะระ (SaddaAkkhara หรือ Phonetic Alphabet) ซึ่งจากหลักฐานในรูปที่ 1 ทำให้กล่าวได้ว่า พระไตรปิฎกปาฬิชุดสำคัญชุดแรกที่มุ่งเน้นการเขียนเสียง ด้วยสัททสัญลักษณ์ปาฬิ คือ พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งเป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์เป็นชุดแรกของโลกที่มีการจัดพิมพ์ตารางการถอดอักขะระ (Alphabetic Transliteration) และตารางการถอดเสียง (Phonetic Transcription) ไว้ในคำนำของหนังสือฉบับ จ.ป.ร. ทุกเล่ม จากการศึกษาดังกล่าว ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถทำการอนุรักษ์อักขรวิธีอักษรสยาม และจัดพิมพ์คู่ขนานกับ สัททะอักขะระ-ปาฬิ เป็น ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) พ.ศ. 2559 ชุด 40 เล่ม (ดูประกอบ อาจารย์ สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 ภิกขุปาติโมกขะปาฬิ พ.ศ. 2557) ดูรูป 1

2. วิธีออกเสียงสัชฌายะ
การออกเสียงสัชฌายะ เช่น เป็น ตามข้อ 1 (หรือเสียงที่เกิดจากลิ้นแตะที่ริมฝีปาก คือ บ/b (เสียงบะ) เป็นเสียงไม่พ่นลม ไม่ใช่เสียง (เสียงพะ) หรือเสียงพ่นลมในภาษาไทย) อ้างอิงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และปัจจุบันมีการศึกษาเป็นสากลทั่วโลก ไวยากรณ์นี้อธิบายการออกเสียงอักขะระปาฬิ ที่ใช้ตำแหน่งที่เกิดเสียงจากฐานเสียงของอวัยวะภายในปากและลิ้นที่เคลื่อนไปตามจุดต่างๆ ทำให้เกิดลักษณะของเสียงพ่นลม (Aspirated) และเสียงไม่พ่นลม (Unaspirated) เป็นต้น นอกจากนี้ยังอธิบายหลักพระวินัยปิฎกของการออกเสียงให้ชัดเจนที่เรียกว่า พยัญชนะกุสะละ (วินัยปิฎก ปริวารวัคค์ ข้อ 455 ในฉบับสากล) เช่น เสียงละหุ (Lahu เสียงเร็ว) และเสียงคะรุ (Garu เสียงนาน) เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการถอดเสียงปาฬิตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็นสัททสัญลักษณ์ในทางภาษาศาสตร์เพื่อให้ง่ายในการอ้างอิงการอ่านออกเสียงละหุคะรุด้วย ซึ่งทำให้สามารถจัดพิมพ์เป็นฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. ในข้อ 1. (ดูประกอบ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ พ.ศ. 2557) รูปที่ 2

3. การเรียงพิมพ์เพื่อเขียนเสียงสัชฌายะ
การเขียนเสียงสัชฌายะให้แม่นตรงกับหลักการในข้อ 1 และ 2 ดังกล่าว ได้อ้างอิงตามโปรแกรมการเรียงพิมพ์สัททะอักขะระในระบบคอมพิวเตอร์ ที่ได้พัฒนาจากการถอดรหัสอักขรวิธีสยามปาฬิในฉบับ จ.ป.ร. พิสูจน์ความแม่นตรงเป็นสูตรคณิตศาสตร์ ตีพิมพ์โดยราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2556 ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้พัฒนาต่อจนได้รับสิทธิบัตรเลขที่ 46390 ใน พ.ศ. 2558 เรื่อง การแบ่งพยางค์อัตโนมัติ (ดูประกอบ ศาสตราจารย์ ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์, ราชบัณฑิต พ.ศ. 2557) รูปที่ 3

4. การเขียนเสียงปาฬิทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์
การเขียนเสียงสัชฌายะในข้อ 2 และ 3 ได้มีการบูรณาการต่อยอดโดยสร้างสรรค์เป็น โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) ในพระไตรปิฎกสากลทั้งชุด 40 เล่ม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมการเขียนเสียงปาฬิด้วยสัททสัญลักษณ์ในทางดุริยางคศาสตร์สากลเป็นครั้งแรก ผลงานนี้สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และได้รับรางวัลพระราชทานในฐานะผลงานวิจัยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2562 ปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้จัดพิมพ์โน้ตเสียงปาฬิดังกล่าวเพื่อเฉลิมพระเกียรติเป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) พ.ศ. 2559 ชุดตัวอย่าง 40 เล่ม และชุดสมบูรณ์ 250 เล่ม ซึ่งชุดสมบูรณ์ดังกล่าวสามารถสืบค้นได้ในระบบดิจิทัล หรือที่ sajjhaya.org (ดูประกอบ รองศาสตราจารย์ ดร. ศศี พงศ์สรายุทธ พ.ศ. 2559) รูปที่ 4

5. โน้ตเสียงปาฬิ
โน้ตเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากลทั้งชุด 40 เล่ม ในข้อ 4 ได้มีการอ่านออกเสียงสัชฌายะและได้บันทึกเสียงสำเร็จสมบูรณ์ในระบบดิจิทัล เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) รวมศัพท์ในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น 2,767,074 คำปาฬิ หรือ 9,442,422 พยางค์ปาฬิ รวมเวลา 3,052 ชั่วโมง หรือ 1.6 เทระไบท์ จุดเด่นที่สำคัญคือการออกเสียงปาฬิตามโน้ตเสียงปาฬิในข้อ 4. ซึ่งเป็นระดับเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำนั้นสามารถออกเสียงสัชฌายะได้จริง ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้สังเคราะห์เสียงสัชฌายะดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการแสดงผลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2560 ผู้ทรงเป็นองค์ประธานการสร้างพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2559 (ดูประกอบ ศาสตรจารย์ ดวงใจ ทิวทอง พ.ศ. 2560) รูปที่ 5