พระไตรปิฎกอักขะระไตไทย-ปาฬิ

พระไตรปิฎกชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต

พระไตรปิฎก อักขะระไตไทย-ปาฬิ (Tai Thai Script-Pāḷi) เป็นพระไตรปิฎกที่จัดการเรียงพิมพ์ขึ้นใหม่ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต พ.ศ. 2562 ชุด 40 เล่ม (The World Tipiṭaka Edition in Various Tai Script 2019, 40 Vols.) ซึ่งต้นฉบับเดิมจัดพิมพ์ขึ้นตามเจตนารมย์ของพระไตรปิฎก มหาจุฬาเตปิฏกํ 2500 ชุด 45 เล่ม ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นผู้ริเริ่มและใช้เวลาจัดพิมพ์เป็นเวลายาวนานประมาณ พ.ศ. 2500-2530  (ข้อมูลจากสิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 ผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกที่ร่วมอยู่ในคณะบรรณาธิการของพระไตรปิฎก มหาจุฬาเตปิฏกํ 2500) 

เนื่องด้วยสมเด็จพระพุฒาจารย์รูปนี้ได้เป็นผู้แทนคณะสงฆ์ไทยร่วมกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ไปประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกระดับนานาชาติ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ระหว่าง พ.ศ. 2497-2499 ท่านจึงเห็นความสำคัญของการนำเนื้อหาพระไตรปิฎกจากการสังคายนานานาชาติดังกล่าว ซึ่งพิมพ์เป็นปาฬิภาสา-อักษรพม่า มาจัดพิมพ์เป็นชุดอักษรไทยเป็นครั้งแรก แม้ยังไม่สมบูรณ์ตามต้นฉบับอักษรพม่า เช่น ฉบับอักษรไทยเปลี่ยน ปาฬิ เป็น ปาลิ และ แบ่งเล่มจากเดิม 40 เป็น 45 เล่ม เป็นต้น แต่การพิมพ์ฉบับอักษรไทยของคณะสงฆ์ไทย พ.ศ. 2500 ก็นับเป็นวิสัยทัศน์และความพยายามที่ก้าวไกล เพราะนานาชาติทั่วโลกถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างฉบับสากล 

ที่สำคัญ ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นผลงานของคณะสงฆ์มหานิกาย ได้ปรับปรุงอักขรวิธีการเรียงพิมพ์ใหม่ที่ต่างไปจากฉบับที่เรียกกันว่า บาลีสยามรัฐ พ.ศ. 2470 ของไทยแต่เดิม ซึ่งศึกษากันในคณะสงฆ์ธัมมยุตต์ จึงเป็นที่น่าสงสัยและชวนศึกษาต่อไปว่า เหตุใดฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ของมหานิกาย จึงได้สืบทอดอักขรวิธีตาม ฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ของธัมมยุตต์ แต่ฉบับบาลีสยามรัฐของธัมมยุตต์ ซึ่งสืบทอดมาจาก ฉบับ จ.ป.ร. แต่เดิม ปัจจุบันได้ยกเลิกการพิมพ์อักขรวิธีใน ฉบับ จ.ป.ร. แล้ว 

ย้อนไปในอดีต เนื่องจากบาลีสยามรัฐในปี พ.ศ. 2470 ได้ยกเลิกการพิมพ์ของฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 ซึ่งใช้อักขรวิธีเขียนเสียงสะกดและเสียงกล้ำที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ได้แก่ ไม้ยามักการ ( ๊ ) กำกับเสียงกล้ำ (Cluster-Consonant Sound) และไม้วัญฌการ (   ์  ) กำกับเสียงสะกด (Final-Consonant Sound) โดยเปลี่ยนจาก ไม้ยามักการและไม้วัญฌการเป็นจุดพินทุบอด (   ฺ  ) แทนทั้งพยางค์เสียงกล้ำและพยางค์เสียงสะกด ซึ่งทำให้เกิดการเขียนที่ลักลั่น เช่น พฺยญฺชนํ ออกเสียงว่า พยัญ-ชะ-นัง

ในการจัดพิมพ์ พ.ศ. 2500 ฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ ได้นำเสนอการพิมพ์เครื่องหมาย หางแซงแซว ( ̬-) ใต้พยางค์เสียงกล้ำ (เช่นเดียวกับที่ฉบับ จ.ป.ร. ใช้ไม้ยามักการกำกับพยางค์เสียงกล้ำ) ส่วนพยางค์เสียงสะกด พิมพ์เครื่องหมาย ìจุดพินทุî (เช่นเดียวกับที่ฉบับ จ.ป.ร. ใช้ไม้วัญฌการกำกับพยางค์เสียงสะกด) ทำให้ง่ายต่อการอ่านสำหรับประชาชนทั่วไป ฉบับจุฬามหาเตปิฏกํ จึงเป็นการสืบทอดเจตนารมย์การอนุรักษ์เสียงปาฬิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์จุลจอมเกล้าพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งทรงโปรดให้สร้างอักขรวิธีเขียนเสียงในพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์ใหม่เป็นชุดหนังสือแทนชุดอักขะระขอมบนใบลาน ด้วยอักขะระสยาม-ปาฬิ และสร้างอักขรวิธีเขียนด้วย ไม้ยามักการ (   ) และไม้วัญฌการ (   ์  ) ในฉบับ จ.ป.ร. ดังกล่าว

พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกสากลในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมุ่งเน้นการเขียนเสียงและการออกเสียงปาฬิตามไวยากรณ์ โดยพิมพ์ด้วยสัททสัญลักษณ์ หรือที่เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (Pāḷi Phonetic Edition) จึงได้นำหลักการของเครื่องหมายหางแซงแซว ในฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ มาจัดพิมพ์ใหม่อีกชุดหนึ่ง แต่ได้ตรวจทานและปรับปรุงการเรียงพิมพ์อื่นๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ได้แก่ เปลี่ยน ปาลิ เป็น ปาฬิ และการแบ่งพยางค์ของคำให้ชัดเจน  โดยเพิ่มการพิมพ์ขีด ( - ) พร้อมทั้งการถอดเสียงปาฬิ (Pāḷi Phonetic Transcription) โดยพิมพ์คู่ขนานด้วย สัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ (Roman Phonetic Alphabet-Pāḷi) เช่น พิมพ์ว่า ยญฺชน [b̮yañ-ja-na] ตามการแบ่งพยางค์เสียงกล้ำในไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิ ข้อ 602 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่คุ้นเคยกับไวยากรณ์ปาฬิสามารถอ่านออกเสียงการแบ่งพยางค์ได้ง่ายและแม่นยำขึ้น 

เนื่องด้วยโครงการพระไตรปิฎกสากลได้อนุรักษ์อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 มาจัดพิมพ์ใหม่ในพระไตรปิฎกชุดชาติพันธุ์ไตด้วย โดยให้ชื่อว่า อักขะระไตสยาม-ปาฬิ ดังนั้น จึงเรียกฉบับชุดเครื่องหมายหางแซงแซวที่กำกับอักขะระไทยชุดปรับปรุงใหม่นี้ ว่า ìอักขะระไตไทย-ปาฬิî เพื่อให้ต่างจากพระไตรปิฎกอักษรไทยชุดอื่นๆ โดยจัดพิมพ์เป็นชุด 40 เล่ม ตามการแบ่งเล่มของสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 

กล่าวโดยสรุป อักขรวิธีหางแซงแซว ซึ่งปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลเรียกว่า อักขะระไตไทย-ปาฬิ จึงเป็นความพยายามในพระไตรปิฎก ฉบับ มหาจุฬาเตปิฏิกํ เพื่อจัดพิมพ์เนื้อหาของการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งตรงกับเจตนารมย์ของโครงการพระไตรปิฎกสากล นอกจากนี้ อักขรวิธีหางแซงแซวยังสอดคล้องกับอักขรวิธีไม้ยามักการในฉบับ จ.ป.ร. ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่มุ่งเน้นการออกเสียงกล้ำให้แยกออกจากเสียงสะกดอย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้การนำอักขรวิธีหางแซงแซวกลับมาปรับปรุงจัดพิมพ์ใหม่ในชุดอักขะรชาติพันธุ์ไตจึงมีความสำคัญยิ่งในทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาและพัฒนาการพระไตรปิฎกของไทยและชาติพันธุ์ไต ทั้งยังช่วยให้เกิดความเข้าใจในการศึกษาพระไตรปิฎกเรื่องความสำคัญของการพิมพ์รูปเสียงกล้ำ ซึ่งสอดคล้องกับฉบับสัชฌายะในโครงการพระไตรปิฎกสากลด้วย

ปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลได้พัฒนาแนวคิดการเขียนเสียงกล้ำเป็นสัททสัญลักษณ์ ไม้กล้ำ (Linkage Mark) ในฉบับอักษรโรมัน พ.ศ. 2548 และในฉบับสัชฌายะ พ.ศ. 2559 ตลอดจนสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมรูปโน้ตสากลในฉบับโน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) ซึ่งได้จดเป็นสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักฐานในแผ่นดินไทย เลขที่ 46390 พร้อมทั้งลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์บันทึกและสังเคราะห์เสียงกล้ำ แยกออกจากเสียงสะกดอย่างเด็ดขาด โดยผลิตเป็น เสียงสัชฌายะดิจิทัล พ.ศ. 2560 (Digital Sajjhāya Recitation) เพื่อศึกษาอ้างอิงในปัจจุบัน ผู้สนใจสามารถฟังเสียงสัชฌายะดิจิทัลสตรีมมิ่ง ที่ www.sajjhaya.org

ในการจัดพิมพ์เป็นฉบับสัชฌายะนี้ ได้พิมพ์อักขะระไตไทย-ปาฬิ คู่ขนาน กับชุดสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ ตามหลักการถอดเสียงอย่างละเอียดในทางภาษาศาสตร์ ที่เรียกว่า การถอดเสียงปาฬิ (Pāḷi Phonetic Transcription) ซึ่งได้มุ่งเน้นการออกเสียงละหุและเสียงคะรุตามหลัก พยัญชะนะกุสะละ (Byanjanakusala) ในพระวินัยปิฎก ปริวารวัคค์ ข้อ 544 โดยอ้างอิงกับไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิ ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นการออกเสียงปาฬิให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ขอขอบคุณ พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และคณะ ที่ดำเนินการออกแบบ บันทึกอักขะระไตไทย-ปาฬิ ชุดนี้ เพื่อจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต พ.ศ. 2563

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ 

ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค 
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา

ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล

พ.ศ. 2563

World Edition Tai Thai Script-Pāḷi by Dhamma Society on Scribd