โน้ตเสียงปาฬิ ฉบับสัชฌายะ ชุด ส.ก.

องค์ประกอบการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิ
โดย รศ.ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ

โน้ตเสียงปาฬิจากพระไตรปิฎกสัชฌายะนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ระดับสากล เพื่อมุ่งเน้นของการออกเสียงละหุ คะรุให้แม่นตรงตามพยัญชนะพุทธิในพระธัมมวินัยซึ่งบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก  โดยอาศัยหลักการบันทึกโน้ตแบบตะวันตกสากลเป็นพื้นฐานในการออกแบบสร้างสรรค์องค์ประกอบของการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิที่รังสรรค์ขึ้นนี้ได้ใช้วิธีการดัดแปลง ประยุกต์และประดิษฐ์เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่อันทรงคุณค่าบนรากฐานเดิมที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  โดยศึกษาจากพัฒนาการการบันทึกโน้ตแบบตะวันตกตั้งแต่สมัยกลางที่เป็นการบันทึกโน้ตสำหรับเพลงสวด  การบันทึกโน้ตแบบปัจจุบันสากล  รวมถึงการบันทึกโน้ตของผู้ประพันธ์เพลงยุคใหม่  การบันทึกโน้ตเสียงปาฬินี้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารเสียงปาฬิออกมาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ชัดเจนตามกฎไวยากรณ์ปาฬิ  โดยอาศัยหลักการบันทึกโน้ตแบบสากล  รวมทั้งการประดิษฐ์สัญลักษณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของอักขะระ-ปาฬิที่ใช้ในการอ่านออกเสียงสัชฌายะเพื่อส่งเสริมให้การอ่านออกเสียงปาฬิสามารถทำอย่างง่ายดายและเป็นมาตรฐานสากล

การบันทึกโน้ตแบบสากลนั้นมีวิธีการที่ไม่ซับซ้อนเข้าใจง่าย   หากแต่สามารถบรรจุรายละเอียดของเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก  มีรูปแบบสัญลักษณ์ที่มีโครงสร้างแน่นอน  มีระเบียบช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจและจดจำได้ไม่ยาก  จากการศึกษาเรื่องการออกเสียงปาฬิให้แม่นตรงตามไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ พ.ศ. 1 พบว่า การบันทึกโน้ตแบบตะวันตกสามารถกำหนดเสียงที่เปล่งออกมาได้ตรงตามหลักการอย่างแม่นยำแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการเปล่งเสียงของผู้ออกเสียงด้วยเป็นสำคัญ เนื่องจากแต่ละชนชาติมีภาษาเป็นของตนเอง ซึ่งมีฐานที่เกิดเสียงและวิธีการออกเสียงในภาษาของตนแตกต่างกันอาจทำให้มีปัญหาในการออกเสียงที่แตกต่างกันได้ อย่างไรก็ตามผลที่ได้จากการออกเสียงสัชฌายะตามโน้ตเสียงปาฬิที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นนี้  สามารถสร้างความพร้อมเพรียงและแม่นตรงเป็นมาตรฐานในการออกเสียงที่เป็นหมู่คณะได้  และยังสามารถเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกปาฬิได้ทั้งชุด  ที่เดิมเขียนไว้ด้วยอักขะระของนานาชาติไม่น้อยกว่า 20 ล้านอักขะระ ในชุด 40 เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกปาฬิ   นวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬินี้จึงเป็นการบูรณาการสหสาขา ได้แก่ พระไตรปิฎก ภาษาศาสตร์ ปาฬิภาสา พุทธศาสตร์ และดุริยางคศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกันเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในทางวิชาการ เพื่อศึกษาและฝึกฝนการออกเสียงที่เรียกว่า ‘สัชฌายะ’ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต หัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬิในครั้งนี้  คือการอนุรักษ์เสียงปาฬิในทางวิชาการด้านต่างๆ ให้คลังอารยธรรมที่สืบทอดมาด้วยเสียงสามารถเผยแผ่ให้แพร่หลายได้เป็นสากลยิ่งขึ้น การสร้างสรรค์นี้มิใช่เป็นเพียงเปลี่ยนรูปแบบการเขียนเสียงเท่านั้น  แต่ยังสามารถเปิดมิติเสียงปาฬิที่ซับซ้อนให้ง่ายขึ้นในการศึกษา  จะทำให้ผู้อ่านโน้ตเสียงปาฬิสามารถอ่านออกเสียงได้แม่นยำและเกิดสมาธิ อันเป็นเป้าหมายและกุศลของการออกเสียงสัชฌายะสมัยใหม่