สัททะอักขะระในโครงการพระไตรปิฎกสากล

สัทอักษร หรือ สัททะอักขะระ-ปาฬิ 6 ชุด 
ในโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-2562

สัทอักษร มาจาก สัททะ ในปาฬิภาสาที่แปลว่า เสียง และ อักษร หรือ อักขะระ ที่หมายถึง รูปเขียน หรือเสียง 

สัทอักษรสากล (อังกฤษ: International Phonetic Alphabet : IPA) คือสัทอักษรชุดหนึ่งที่พัฒนาโดยสมาคมสัทศาสตร์สากล โดยมุ่งหมายให้เป็นสัญลักษณ์มาตรฐานสำหรับการแทนเสียงพูดในทุกภาษา นักภาษาศาสตร์ใช้สัทอักษรสากลเพื่อแทนหน่วยเสียงต่าง ๆ ที่อวัยวะออกเสียงของมนุษย์สามารถเปล่งเสียงได้ โดยแทนหน่วยเสียงแต่ละหน่วยเสียงด้วยสัญลักษณ์เฉพาะที่ไม่ซ้ำกัน สัญลักษณ์ในสัทอักษรสากลนั้นส่วนใหญ่นำมาจากหรือดัดแปลงจากอักษรโรมัน สัญลักษณ์บางตัวนำมาจากอักษรกรีก และบางตัวประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยไม่สัมพันธ์กับอักษรใดเลย 

ข้อมูล  International Phonetic Alphabet จากวิกีพีเดีย

ใน พ.ศ. 2548 โครงการพระไตรปิฎกสากล นำโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9 ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางภาษาบาลีคนแรกของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้ริเริ่มศึกษาการถอดเสียงปาฬิ เป็น สัทอักษรสากล เพื่อจัดพิมพ์อ้างอิงในโครงการพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ซึ่งดำเนินตามพระบัญชาในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล

ในการศึกษาดังกล่าว ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์ พบว่า ตารางการถอดเสียงเป็นสัทอักษรของนักวิชาการชาวตะวันตกในอดีต ยังไม่แม่นตรงกับเสียงปาฬิ ที่อธิบายไว้ในคัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดในทางเสียงปาฬิของวัฒนธรรมพระไตรปิฎกเถรวาท ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า นักวิชาการชาวตะวันตกคุ้นเคยแต่เสียงในภาษาสันสกฤต และมุ่งเน้นแต่ในการศึกษาศัพท์เพื่อการแปล มิได้ศึกษาการออกเสียง โดยเฉพาะคัมภีร์กัจจายะนะ-ปาฬิ ที่ว่าด้วยการออกเสียงปาฬิ มิได้มีการสอนอย่างจริงจังในประเทศตะวันตก 

อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิจินตน์ ภาณุพงศ์

ในปี พ.ศ. 2548 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรโรมันสำเร็จเป็นชุดสมบูรณ์ชุดแรก ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2552-2557 จึงได้ทำการศึกษาการออกเสียงปาฬิอย่างจริงจังตามที่อ้างอิงไว้ในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ  และได้ทำการบันทึกการออกเสียงพยัญชนะและสระในปาฬิภาสาทั้ง 41 ตัว โดยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบเคลื่อนไหว หรือ Cine MRI ซึ่งทำให้สามารถบันทึกการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายในปากอย่างละเอียดเกิดเสียงต่างๆ ในการออกเสียงตามกฎไวยากรณ์ดังกล่าว รวม ภาพ Cine MRI ทั้งหมดประมาณ 600 ภาพ

ภาพ Cine MRI จากทั้งหมดประมาณ 600 ภาพ

หลักฐานการศึกษา Cine MRI นี้ พบว่ามีความแม่นตรงกับหลักไวยากรณ์ที่อธิบายในคัมภีร์กัจจายะนะ-ปาฬิ เมื่อ 2000 ปีที่แล้ว และเป็นจุดสำคัญที่โครงการพระไตรปิฎกสากลสรุปได้ในเบื้องต้นของการออกเสียงปาฬิตามกฎไวยากรณ์ที่เรียกว่า สัชฌายะ ซึ่งต่อมาได้ถอดเสียงปาฬิ เขียนเป็นสัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Phonetic Alphabet-Pāḷi) และเป็นข้อมูลในการออกเสียงปาฬิ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางดุริยางคศาสตร์นำมาฝึกสอนในการออกเสียงปาฬิในโครงการพระไตรปิฎกสากล ที่เรียกว่า การออกเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Recitation) กล่าวคือ นอกจากการอ้างอิงการออกเสียงให้แม่นตรงกับ ฐาน และ กรณ์ ของอวัยวะภายในปากแล้ว ยังมุ่งเน้นการแบ่งพยางค์ระหว่างเสียงสะกด และเสียงกล้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นตามกฏไวยากรณ์ ซึ่งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลสามารถพัฒนาโปรแกรมอักษรโรมัน พ.ศ. 2548 เป็นโปรแกรมแบ่งพยางค์สัชฌายะ พ.ศ. 2559 สิทธิบัตร เลขที่ 46390 โดยมี พันเอก (พิเศษ) สุรธัช  บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และ รองประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เป็นหัวหน้าคณะผู้ประดิษฐ์สิทธิบัตร

ในปี พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ปรับปรุงการจัดพิมพ์ สัททะอักขะระ-ปาฬิ ในฉบับอักขะระโรมัน ชุด 40 เล่ม ในการนี้ หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (The British Library) ได้ขอความอนุเคราะห์ผ่านกระทรวงการต่างประเทศไทยเพื่อขอพระไตรปิฎกชุดนี้จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษในทางพระพุทธศาสนา ร่วมกับ เอกสารทางประวัติศาสตร์ของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ ระหว่าง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พร้อมทั้งขอรับพระไตรปิฎกสากลอักษรโรมันเป็นสมบัติถาวรของหอสมุดด้วย นับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ของการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ที่ได้มีการรับมอบเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ปัจจุบันรวมการเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ฉบับอักษรโรมันในหอสมุดสำคัญในระดับนานาชาติ เป็นชุดที่จัดพิมพ์พิเศษทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 150 ชุด ใน 25 ประเทศทั่วโลก

แม้ว่า IPA จะได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบการเขียนเสียงที่เป็นมาตรฐานสากล แต่ IPA ก็ยังจำกัดอยู่ในหมู่นักภาษาศาสตร์และนักวิชาการชาวตะวันตก ส่วนจุดมุ่งหมายของโครงการพระไตรปิฎกสากล คือการอนุรักษ์เสียงปาฬิ จัดพิมพ์และเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลให้แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป ดังนั้น เมื่อโครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถทำการเปลี่ยนผ่านการอนุรักษ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็นระบบเสียงสัชฌายะดิจิทัลได้สำเร็จสมบูรณ์ โดยได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเสียงสัชฌายะดิจิทัลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พร้อมต้นฉบับหนังสือพระไตรปิฎกสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) 40 เล่ม และชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) 40 เล่ม ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560 นั้น ซึ่งนับเป็นมงคลอันสูงสุด ของโครงการพระไตรปิฎกสากลที่ได้ดำเนินงานมาร่วม 20 ปี

ปัจจุบันมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้พัฒนาระบบการถอดเสียงปาฬิ เป็น ชุดสัททะอักขะระต่างๆ ให้หลากหลายยิ่งขึ้น เพราะมีเสียงสัชฌายะดิจิทัลเป็นมาตรฐานที่สามารถอ้างอิงกับการพิมพ์กับชุดสัททะอักขะระต่างๆ ซึ่งสามารถแสดงผลทั้งภาพและเสียงได้พร้อมกันได้อย่างชัดเจนซึ่งเป็นการประมวลผลแบบทันที (Real Time Processing) ดูการนำเสนอ สัททะอักขะระต่างๆ ใน โทรศัพท์สัชฌายะปัญญาประดิษฐ์  (Sajjhāya Smart Phone AI) ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้ :

1. สัททะอักขะระสากล-ปาฬิ
International Phonetic Alphabet-Pāḷi (IPA-Pāḷi) 

IPA เป็นชุดมาตรฐานการถอดเสียง (Transcription) ในทางวิชาการภาษาศาสตร์ โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ปรับปรุงชุดสัทอักษร IPA สำหรับเขียนเสียงปาฬิใหม่ เรียกว่า สัททะอักขะระ-ปาฬิ และจัดพิมพ์เป็นครั้งแรก พ.ศ. 2553 ในพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมันชุด 40 เล่ม ในการเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ในสหรัฐอเมริกา 

พ.ศ. 2562 มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล โดย ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้มีนโยบายให้ปรับปรุงการจัดพิมพ์ฉบับอักษรโรมันใหม่ให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการถอดเสียงปาฬิ และการแบ่งพยางค์ในพระไตรปิฎกให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อมอบเป็นพระธัมมทานจัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ ณ หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ The British Library (BL) กรุงลอนดอน ตามที่ BL ได้ขอความอนุเคราะห์ผ่านกระทรวงต่างประเทศไทย เนื่องด้วย IPA-Pāḷi ชุดนี้เหมาะสำหรับเผยแผ่ในประเทศโลกตะวันตก

2. ละหุ/คะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ 
Lahu/Garu Thai Phonetic-Pāḷi 

เป็นชุดที่พัฒนามาจาก IPA-Pāḷi ในข้อ 1 แต่เลือกใช้รูปอักขะระในภาษาไทยเป็นสัททสัญลักษณ์ในการเขียนเสียงปาฬิ เพื่อง่ายสำหรับการอ่านออกเสียงของประชาชนทั่วไปในการสวดมนต์ หรือที่โครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า Sajjhāya หรือ การออกเสียงสัชฌายะเพื่อความแม่นตรงตามไวยากรณ์

ชุด ละหุ/คะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ มุ่งเน้นการเขียนสัททสัญลักษณ์เสียงละหุและเสียงคะรุ ตามหลักพยัญชะนะกุสะละ ในวินัยปิฎก และไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ โดยเฉพาะ ข้อ 602 ซึ่งมีเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล เสียงละหุ ด้วยสีเบาโปร่ง และเสียงคะรุ ด้วยสีเข้มทึบ โดยอ้างอิงจากโปรแกรมสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์สัชฌายะ เลขที่ 46390 (พ.ศ. 2557) 

โครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์ชุด อักขรวิธี ละหุ/คะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เป็นครั้งแรก พ.ศ. 255 9 ในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) 40 เล่ม และชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) 40 เล่ม พ.ศ. 2559 รวมชุด 80 เล่ม โดยได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2560 และได้น้อมถวายสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระธัมมทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2561

3. ละหุคะรุ สัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ  
Lahu/Garu Roman Phonetic Alphabet-Pāḷi

เป็นชุดที่อ้างอิงจาก ละหุ/คะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ โดยเปลี่ยนรูปสัททสัญลักษณ์ในภาษาไทย เป็นสัททสัญลักษณ์อักขะระโรมัน ตามตารางการถอดเสียงที่ได้พิมพ์ในพระไตรปิฎกปาฬิภาสา ฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. 2436 ซึ่งได้นำเสนอการถอดเสียงปาฬิ โดยเปรียบเทียบ อักขะระสยาม-ปาฬิ (Syām Script Pāḷi) กับ อักขะระโรมัน-ปาฬิ (Roman Script Pāḷi) ซึ่งเป็นการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นชุดๆ แรกของโลก 

โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัล จัดพิมพ์ เสียงละหุ ด้วยสีเบาโปร่ง และเสียงคะรุ ด้วยสีเข้มทึบ ในการพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภปร. (ต้นฉบับปาฬิภาส) 40 เล่ม และชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) 40 เล่ม พ.ศ. 2559 โดยได้มอบเป็นธัมมทานผ่านกระทรวงการต่างประเทศไทยเผยแผ่ตามรอยประวัติศาสตร์การพระราชทานพระไตรปิฎก จ.ปร. อักขะระสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436 ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับ สถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลฮี เพื่อมอบเป็นพระธัมมทานแก่สถาบันสำคัญในระดับนานาชาติในสาธารณรัฐอินเดีย

4. สัททะอักขะระไต-ปาฬิ
Tai Phonetic Alphabet-Pāḷi

มุ่งเน้นการเขียนเสียงปาฬิที่เป็นเสียงสามัญด้วยอักขะระไทย หรือ อักขะระชาติพันธุ์ไต โดยเฉพาะชุดที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเรียกว่า ชุดไตสยาม และ ไตไทย ที่มีรูปทั้งพยัญชนะและรูปเสียงวรรณยุกต์ที่หลากหลาย กล่าวคือ มีทั้งพยัญชนะที่มีเสียววรรณยุกต์ และพยัญชนะที่เป็นเสียงสามัญที่ไม่มีวรรณยุกต์ เช่น [อิติปิ โซ] ใช้ พยัญชนะ-ซ แทน พยัญชนะ-ส และมีการแสดงเสียงพ่นลม ด้วย พยัญชนะ-ฮ ยกกำลัง เป็นต้น

โครงการพระไตรปิฎกสากลจะเปิดตัว สัททะอักขะระไต-ปาฬิ ชุดนี้ ในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต 80 ชุดอักขระระ ในปี พ.ศ. 2563

5. สัททะอักขะระรัสเซีย-ปาฬิ
Russian Phonetic Alphabet-Pāḷi

พัฒนาจากสัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ ในข้อ 3 โดยโครงการพระไตรปิฎกสากลริเริ่มจัดทำขึ้นกับผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์รัสเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาภาษารัสเซีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558-2562 ในวาระ 120 ปี ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย และการค้นพบพระไตรปิฎก ฉบับ จปร. อักขะระสยาม-ปาฬิ ณ หอสมุดเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย 

โครงการพระไตรปิฎกสากลมีแผนงานในการเผยแผ่ชุดสัททะอักขะระรัสเซีย-ปาฬิ ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นชุดที่เหมาะกับประชาชนที่คุ้นเคยกับอักษรรัสเซียและอักษรซีลีลิกที่ใช้ในประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก

6. สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ
Pinyin Phonetic Alphabet-Pāḷi

ชุด ปาฬิ-พินอิน พัฒนาจาก สัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ ในข้อ 3 โดยโครงการพระไตรปิฎกสากลร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์การศึกษาการออกเสียงสัชฌายะในพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. ซึ่งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้รับพระบรมราชานุญาตในรัชกาลที่ 9 ให้เป็นผู้จัดพิมพ์ และเผยแผ่ตามรอยประวัติศาสตร์พระไตรปิฎก ฉบับ จ,ป.ร.อักขะระสยาม โดยใน พ.ศ. 2562 จะมอบเป็นพระธัมมทานแก่สถาบันทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติของจีนในวาระ 70 ปี แห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2562

โครงการพระไตรปิฎกสากล ได้พัฒนา สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ เป็น Pāḷi Apps ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถแสดงผลทั้งภาพ พินอิน-ปาฬิ และเสียงสัชฌายะด้วยการประมวลผลแบบทันที ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในการอ่านพระไตรปิฎกทั้งชุด รวมเวลาประมาณ 3,052 ชม. หรือ 1.6 เทราไบท์ โดยบรรจุลงในโทรศัพท์ที่เรียกว่า โทรศัพท์สัชฌายะ หรือ Sajjhāya Smart Phone AI ด้วย

ตารางอักขะระพินอิน-ปาฬิ