พระไตรปิฎกอักขะระไต โน้ตเสียงปาฬิ

พระไตรปิฎกชุดชาติพันธุ์ไต

ภาพโดยพระบรมราชานุญาต
หนังสือ ที่ พว 0005.1/771

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ผู้ทรงเป็นประธานการพิมพ์เพื่ออนุรักษ์ต้นฉบับ พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 เสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทาน ต้นฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Phonetic Edition) ในพระไตรปิฎกสากล ซึ่งจัดพิมพ์เป็นชุด อักขะระชาติพันธุ์ไตชุดต่างๆ (Tai Scripts) คู่ขนาน กับ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) รวม 9 ชุดอักขะระ โดยได้พระราชทานต้นฉบับแก่ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และ ศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. 2557 ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง 

พิธีสมโภชพระไตรปิฎกสากลจัดขึ้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวาระที่ ชุดสัททะอักขะระในการพิมพ์พระไตรปิฎกสากลดังกล่าว สามารถสร้างสรรค์สำเร็จขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในรัชกาลที่ 9 โดยได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาฉบับแรก The World Tipiṭaka Patent No. 46390 พ.ศ. 2557 (2014)

ต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล ชุดสัททะอักขะระ-ปาฬิ  (Pāḷi Phonetic Alphabet) ได้พระราชทานแก่สถาบันศาล ในฐานะที่พระไตรปิฎกเปรียบเป็นพระธรรมศาสตร์เก่าแก่ ซึ่งเป็นรากฐานทางกฎหมายของมนุษยชาติ ซึ่งศาลเป็นผู้ใช้อำนาจทางตุลาการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตรย์ไทย

หมายเหตุ : ในภาพคือต้นฉบับ ภิกขุปาติโมกขะปาฬิ อักขะระไตขืน-ปาฬิ (เชียงตุง) จากชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต-ปาฬิ 9 ชุดอักขะระ ปัจจุบัน พ.ศ. 2563 ได้มีการจัดเพิ่มเป็นพระไตรปิฎกสากล 18 ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต ชุดละ 40 เล่ม เป็นทั้งชุดหนังสือและระบบดิจิทัลพร้อมเสียงสัชฌายะดิจิทัล รวม 3,052 ชั่วโมง ความจุ 1.6 เทระไบต์

โน้ตเสียงปาฬิ กับ สัททะอักขะระ

 

โน้ตเสียงปาฬิ กับ อักขะระปาฬิ

 

เป็นผลงานสำคัญล่าสุดในโครงการพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัขฌายะ พ.ศ. 2562 เนื่องด้วยเป็นความสำเร็จในการบูรณาการทางสหวิชาการที่สมบูรณ์ เพราะเป็นการกลับสู่เสียงปาฬิซึ่งเป็นเสียงดั้งเดิมที่บันทึกคำสอนในพระไตรปิฎกตั้งแต่การสังคายนา พ.ศ. 1

พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ จึงเป็นการเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก ด้วยสัทอักษร (Phonetic Alphabet)​ หรือที่โครงการเสียงสัชฌายะ เรียกว่า สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Albhabet) ตามหลักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ และได้พัฒนาสร้างสรรค์เป็นโน้ตเสียงสากลในทางดุริยางคศาสตร์ เรียกว่า โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi​ Notation)​ ในฉบับสัชฌายะ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นครั้งแรก พ.ศ. 2559

รองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อาศัยข้อมูลเบื้องต้นจากโครงการพระไตรปิฎกสากล ในการสร้างสรรค์โน้ตเสียงปาฬิ ดังต่อไปนี้ :

1. หลักการเขียนเสียงพระไตรปิฎกด้วยสัททสัญลักษณ์ :
อ้างอิงในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436

2. การออกเสียงปาฬิตามพระวินัยปิฎก :
อ้างอิงหลักพยัญชนะกุสะละ 10 ในพระวินัยปิฎก คัมภีร์ปริวารวัคค์ ข้อ 455
โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2557

3. หลักไวยากรณ์ว่าด้วยการออกเสียงปาฬิ :
อ้างอิงไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิ อักขะระสยาม-ปาฬิ
โดย อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9 กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวรฯ พ.ศ. 2552

4. สัททะอักขะระในทางภาษาศาสตร์ :
อ้างอิงสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ
โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2554

5. ตรรกคณิตศาสตร์พิสูจน์สัททสัญลักษณ์ :
สูตรสกัดการแบ่งพยางค์อ้างอิงพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม กับ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิต
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. ระบบการพิมพ์ที่เป็นมาตรฐานสากล
สิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ดิจิทัล ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ประดิษฐ์โดย สุรธัช บุนนาค และคณะ
ในมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2558

7. การเปลี่ยนผ่านพระไตรปิฎกในระบบดิจิทัล :
 ฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล 
โดย ปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย และคณะ
ในโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน

ระหว่าง พ.ศ. 2542-2556 อาจารย์ สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ.9 (ดูข้อ 3) และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ (ดูข้อ 4) ได้เป็นผู้บุกเบิกการวางรากฐานการศึกษาเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกในประเทศไทย โดยสามารถวิเคราะห์อักขรวิธีสยามปาฬิในพระไตรปิฎก จปร. ว่าเป็นนวัตกรรมการเขียนเสียงในพระไตรปิฎกที่เป็นสัททสัญลักษณ์เป็นครั้งแรก และยังสามารถอ้างอักขรวิธีสยามปาฬิในพระไตรปิฎก กับ กฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ โดยจัดพิมพ์ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็น อักขะระสยาม-ปาฬิ เป็นครั้งแรก แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญในทางวิชาการของพระไตรปิฎกศึกษาในยุคดิจิทัลอาจกล่าวได้ว่าเกิดจากการสกัดสูตรคณิตศาสตร์ของศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ที่พิมพ์ในหนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี พ.ศ 2557 (ดูข้อ 5)

สูตรสกัดดังกล่าวเป็นหลักการสำคัญที่บูรณาการความรู้ด้านไวยากรณ์ในพระไตรปิฎก (ดูข้อ 3) และหลักการในทางภาษาศาสตร์ (ดูข้อ 4) กับสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ (ดูข้อ 6) และการสร้างฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลในระบบคอมพิวเตอร์ (ดูข้อ 7)​ เพราะสูตรคณิตศาสตร์สามารถอธิบายได้เป็นสากล ทำให้ข้อมูลในไวยากรณ์กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถเชื่อมต่อได้เป็นภาษาเดียวกัน แม้ทางฝ่ายดุริยางคศาสตร์ก็สามารถเข้าใจข้อสรุปทางไวยากรณ์ในทางคณิตศาสตร์ได้โดยตรง ทำให้มั่นใจได้ว่าโน้ตเสียงปาฬิเกิดจากการถอดเสียงอย่างแม่นตรงตามไวยากรณ์ในพระไตรปิฎก กล่าวคือ การสร้างกฎคณิตศาสตร์ในการแบ่งพยางค์อัตโนมัติกับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิที่พบว่าถูกต้องตรงกันนั้น ทำให้พิสูจน์ได้ว่า พระไตรปิฎกฉบับ จปร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 ใช้สัททสัญลักษณ์ตามไวยากรณ์ด้วย ซึ่งเป็นหลักการอ้างอิงที่สำคัญในการสร้างพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ที่จัดพิมพ์ด้วยสัททสัญลักษณ์สากลใน ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา)​ และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ)​ พ.ศ. 2559

การสร้างสรรค์หลักของรองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ มี 2 ประการ คือ

1. การออกแบบโน้ตเสียงปาฬิให้เป็นมาตรฐานสากล โดยเบื้องต้นกำหนดให้โน้ตหัวดำความยาวหนึ่งมาตรา เป็นโน้ตเสียงละหุ และโน้ตหัวขาวความยาวสองมาตรา เป็นโน้ตเสียงคะรุ ซึ่งเป็นรากฐานของพยางค์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎกทั้งหมดจำนวน 9,442,442 พยางค์ปาฬิ

2. การประดิษฐ์สัญลักษณ์พิเศษที่หัวโน้ตและหางโน้ต ตามหลักการเปล่งเสียงตาม "ฐาน" (Place of Articulation)​ และ "กรณ์" (Maner of Articulation)​ หรือตำแหน่งการเคลื่อนที่ของลิ้นแตะกับอวัยวะต่างๆ ภายในปาก เช่น ลิ้นแตะเพดานแข็ง หรือ ลิ้นแตะฟัน เป็นต้น กับวิธีการเปล่งเสียง เช่น เสียงพ่นลม เสียงก้อง และเสียงขึ้นจมูก เป็นต้น (ดูรายละเอียดด้านล่าง)

การสร้างสรรค์ในเบื้องต้นเหล่านี้เป็นหลักการให้นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างโน้ตเสียงดิจิทัลเป็นฐานข้อมูลเพื่อประมวลผลของพยางค์ทั้งหมดในพระไตรปิฎก โดยเรียงตามจังหวะที่กำหนดเป็นเสียงละหุและเสียงคะรุในไวยากรณ์ พร้อมกับสร้างเป็นชุดโน้ตเสียงปาฬิชุดต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นลักษณะการเปล่งเสียง ตลอดจนสร้างเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเปล่งเสียงอัตโนมัติในโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (ดูรายละเอียดโน้ตเสียงปาฬิ 4 เวอร์ชั่น)

กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนผ่านของพระไตรปิฎกสากลในระบบดิจิทัล จาก "รูปอักขะระ" จำนวน 20,946,860 อักขะระสากล หรือ อักขะระโรมัน ในชุดหนังสือ 40 เล่ม สู่ "รูปโน้ตเสียงปาฬิ" ในระบบดิจิทัลจำนวน 250 เล่ม หรือความจุ 2.82 GB จึงเกิดจากการประมวลผลจากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งจัดทำตามสูตรสกัดคณิตศาสตร์และสิทธิบัตรเลขที่ 46390 ที่กล่าวมาแล้ว

ปัจจุบันโน้ตเสียงปาฬินี้ได้ทำการบันทึกโดยผู้เชี่ยวชาญการออกเสียงทางดุริยางคศาสตร์เป็นเสียงสัชฌายะดิจิทัล รวมทั้งชุดพระไตรปิฎกสากลยาว 3,052 ชั่วโมง หรือ 1.6 เทระไบต์ ซึ่งสามารถสืบค้นได้ที่ https://streaming.sajjhaya.org

ประโยชน์ของโน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation)

1. ประโยชน์ที่สำคัญคือ โน้ตเสียงปาฬิสามารถกำหนดจังหวะเสียงละหุ หรือเสียงเร็ว หนึ่งมาตรา (1 meter)​ กับ เสียงคะรุ หรือเสียงนานสองมาตรา (2 meters)​ ได้เป็นมาตรฐานสากล

สังเกตุ เสียงคะรุ 2 มาตรา (โน้ตตัวขาว) และเสียงละหุ 1 มาตรา (โน้ตตัวดำ)

 

2. "สัญลักษณ์ตัวหยุด" ของโน้ตเสียงปาฬิ (Rest Symbol)​ แสดงการพิมพ์เว้นวรรคในพระไตรปิฎก ซึ่งฉบับโน้ตเสียงปาฬิระบุให้เว้นวรรคการออกเสียงเป็นสองมาตรา (2 meters)​ ทำให้ออกเสียงแต่ละคำในพระไตรปิฎกตรงกับระบบการพิมพ์

สังเกตุ สัญลักษณ์ตัวหยุดในวงกลมสีแดง

 

3. จังหวะมาตรฐานในข้อ 1 และ ข้อ 2 ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถออกเสียงเป็นหมู่คณะได้อย่างพร้อมเพรียง เรียกว่าการออกเสียงที่เป็นสากล

4. โน้ตเสียงปาฬิเขียนบน "โน้ตเส้นเดี่ยว" (One-Staff Line)​ ที่รู้จักเป็นสากลว่าเป็นเสียงที่ไม่มีระดับสูงต่ำ กล่าวคือเสียงปาฬิเป็นภาษาในตระกูลอินโด-อารยัน ที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ โน้ตเสียงปาฬิเส้นเดี่ยวเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของพระไตรปิฎกสู่การบันทึกในทางดุริยางคศาสตร์ที่สามารถแก้ปัญหาการออกเสียงวรรณยุกต์ที่ติดมากับอักขะระท้องถิ่นเมื่อใช้เขียนเสียงในพระไตรปิฎก

สังเกตุ "โน้ตเส้นเดี่ยว" (One-Staff Line) เป็นโน้ตแนวเสียงเดียว ไม่มีระดับสูงต่ำ

 

5. โน้ตเสียงปาฬิจัดทำในระบบดิจิทัล สามารถสืบค้นได้อย่างรวดเร็ว และปัจจุบันได้ทำการบันทึกเสียงโดยผู้เชี่ยวชาญ เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation) และได้สังเคราะห์ในอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่สามารถเปล่งเสียงได้อย่างอัตโนมัติ

6. โน้ตเสียงปาฬิได้บันทึกเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากล (World Tipiṭaka Database) ทำให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมายเหตุ : ดูอักขะระปาฬิในชุดพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล