คู่มือออกเสียงพระธัมมบท

การออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ :

หนังสือชุดพระไตรปิฎกเป็นการเรียงพิมพ์เสียงปาฬิด้วยชุดอักขะระ (Akkhara) ของชาติต่างๆ ซึ่งแต่ละชุดมีจุดเด่นและจุดด้อยของการเขียนเสียงปาฬิที่แตกต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม ซึ่งจัดพิมพ์เป็นชุดครั้งแรกของโลกในปี พ.ศ. 2436 มีจุดเด่นที่สำคัญของการเขียนเสียงปาฬิ คือ “การถอดเสียง” (Phonetic Transcription) โดยพิมพ์อักขะระสยาม เช่น “พุท์โธ” เขียนเสียงปาฬิ เทียบกับ อักขะระโรมัน “buddho” อักขะระที่ชาวโลกสามารถอ่านออกเสียงได้เป็นสากล ซึ่งแม่นตรงกับเสียงที่กำหนดไว้ในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ นอกจากนี้อักขะระสยามยังมีจุดเด่นที่มีเสียงพยัญชนะและเสียงสระครบทุกเสียงปาฬิ (เดิมเรียกว่า บาลี) แต่การออกเสียงปาฬิในประเทศไทย ยังไม่ตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ กล่าวคือคนไทยมักไม่ออกเสียงปาฬิตามกฎไวยากรณ์ และยังออกเสียงไม่ตรงกับอักขะระสยาม-ปาฬิ ที่เทียบไว้กับอักขะระโรมัน-ปาฬิ ที่พิมพ์ไว้ในพระไตรปิฎก เช่น รูป อักขะระสยาม   และ    มิใช่ออกเสียง [พอ] และ [ทอ] ตามเสียงของท้องถิ่นในภาษาไทย แต่ต้องออกเสียงเหมือนเสียงอักขะระโรมัน b [ba] และ d [da] หรือ [บะ] และ [ดะ] ดังนั้น พุท- จึงออกเสียงว่า [บุด-] หรือ [bud-] 

ในสยามประเทศ อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ใช้เครื่องหมายไม้-อะ ( อั ) แสดงเสียง สระ-อะ  หรือ เสียงไม่สะกด,  ไม้วัญฌการ  (     ์ ) แสดงเสียงสะกด  โดยแยกออกอย่างเด็ดขาดจากเครื่องหมาย ไม้ยามักการ ( ) ที่แสดงเสียงกล้ำ ซึ่งนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ได้พบว่าเป็นการริเริ่มใช้สัททลักษณ์ที่มีประสิทธิภาพเขียนเสียงปาฬิเป็นครั้งแรกในพระไตรปิฎก (วิจินตน์ ภาณุพงศ์ : 80 ปี ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2557) 

ในคำว่า พุท์- ไม้วัญฌการแสดงสัททสัญลักษณ์เสียงสะกด ตามที่เทียบไว้กับอักขะระโรมัน bud- และ พ๎ย“- ไม้ยามักการแสดงสัททสัญลักษณ์เสียงกล้ำตามที่เทียบไว้กับอักขะระโรมัน ว่า b จึงเป็นการง่ายที่ประชาชนทั่วไปจะอ่านเสียงปาฬิตามสัททสัญลักษณ์ แม้มิได้มีความรู้ไวยากรณ์ของการแบ่งพยางค์เสียงสะกดและเสียงกล้ำ

เมื่อขาดความรู้อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ และต้นฉบับสูญหายไป ปัจจุบันประชาชนทั่วไปจึงรู้จักแต่อักขรวิธีพินทุบอด ซึ่งใช้จุดพินทุบอดแทนทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ (จากตัวอย่างข้างต้น คือ พุทฺ และ พฺยา ทำให้เกิดความสับสนออกเสียงกล้ำเป็นเสียงสะกด เช่นเสียงกล้ำใน ตุเม ออกเสียงว่า ตุ-มเห กลายเป็นออกเสียงสะกดว่า ตุม-เห หรือ กัต๎ว“ กะ-ตวา กลายเป็นออกเสียงทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ ว่า กัต-ตวา เป็นต้น) ด้วยเหตุนี้ในหนังสือนี้จึงยกตัวอย่างอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ เป็นนวัตกรรมการเขียนเสียงปาฬิอันเป็น “ตัวอย่างทางเลือก” ของการถอดเสียงปาฬิในปัจจุบัน ผู้ที่คุ้นเคยกับการอ่านพินทุบอดที่ถูกต้อง ก็สามารถเปรียบเทียบศึกษาได้ และย่อมเห็นประโยชน์ของสัททสัญลักษณ์ที่แทนเสียงสะกดและเสียงกล้ำว่าแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด

อักขรวิธีพินทุบอดดังกล่าว เป็นการเขียนเสียงสวดมนต์ที่สืบทอดมาในปัจจุบัน ที่เรียกว่า การออกเสียงตามประเพณี หรือที่เรียกกันว่า บาลีไทย  (Thai Traditional Chanting) สงฆ์ที่ได้ศึกษาและมีความรู้ทางไวยากรณ์ย่อมสามารถออกเสียงได้แม่นตรง แต่ประชาชนทั่วไปที่มิได้คุ้นเคยกับการศึกษาบาลีพินทุบอด ย่อมออกเสียงไม่แม่นตรงเป็นธรรมดา แต่ก็อะลุ่มอล่วยว่าออกเสียงแบบไทย และยึดถือสืบทอดกันมาในปัจจุบัน แต่ในทางพระวินัยปิฎก สงฆ์ผู้เชี่ยวชาญในปริยัติศาสนาย่อมตระหนักว่าการออกเสียงที่แม่นตรงเป็นหลักสำคัญของการทำสังฆกัมม์ในพุทธศาสนาเถรวาท มีผลทางกุศลและอกุศล กล่าวคือ การออกเสียงปาฬิที่แม่นตรงย่อมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ สามารถสืบทอดพระธัมม์คำสอนในพระไตรปิฎกให้ยั่งยืน ผู้ออกเสียงแม่นตรงย่อมเกิดปัญญาและสันติสุข ส่วนการออกเสียงสวดที่ไม่แม่นตรง โดยเฉพาะของสงฆ์ในการสวดกัมมวาจาของการบวชย่อมทำให้สังฆกัมม์เป็นโมฆะ และผู้เป็นภิกขุย่อมต้องอาบัติ  เป็นบาปอกุศลได้

เพื่อแก้ไขปัญหาการออกเสียงต่างๆ ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องจัดทำคู่มือการออกเสียงปาฬิตามไวยากรณ์ เรียกว่า “กฎสัชฌายะ” ในเบื้องต้นมี 14 ข้อ อ้างอิงวินัยปิฎก ปริวารวัคค์ข้อที่ 455 และไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ โดยพันเอก สุรธัช บุนนาค หัวหน้าคณะผู้สร้างสรรค์สิทธิบัตร เลขที่ 46390 และรองประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล 

การสร้างระบบการถอดเสียงปาฬิแบบใหม่นี้ (Pāḷi Phonetic Transcription) แทนระบบการถอดอักขะระ (Alphabetic Transliteration) ตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ที่มีมาแต่เดิมของนักวิชาการตะวันตก ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเสนอเป็นรูป สัทอักษร (Phonetic Alphabet) หรือ สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Sadda AkkharaPāḷi) (สุรธัช บุนนาค : กฎสัชฌายะ 14 ข้อ หน้า 30 คู่มือการออกเสียงปาฬิ พ.ศ. 2561)  

โครงการพระไตรปิฎกสากลมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้วิธีออกเสียงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงสร้างนวัตกรรมการพิมพ์เสียงปาฬิใหม่ในทางสหวิชาการ พร้อมทั้งบูรณาการต่อยอดการถอดเสียงและเขียนรูปเสียงเป็น “โน้ตเสียงปาฬิ” (Pāḷi Notation Transcription) ในทางดุริยางคศาสตร์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น (ศศี พงศ์สรายุทธ : ผลงานวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2560) พร้อมทั้งได้ทำการบันทึกเสียงปาฬิด้วยเทคโนโลยีทางเสียงสร้างเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัชฌายะในการออกเสียงปาฬิ เพื่อเป็นคู่มือการฟังและฝึกซ้อมการออกเสียงนี้ด้วย (ดวงใจ ทิวทอง : เสียงสัชฌายะดิจิทัล  พ.ศ. 2559 สามารถฟังได้ที่ sajjhaya.org)

การออกเสียงที่จัดพิมพ์ในหนังสือนี้เป็นสรุปปัญหาการออกเสียงปาฬิในอดีต ที่โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำการศึกษา พัฒนา และนำเสนอเป็นนวัตกรรมการเขียนเสียงปาฬิให้แม่นตรงกับกฎไวยากรณ์สากลในระดับนานาชาติ โดยนำเสนอเป็นรูปแบบการพิมพ์ด้วยสัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) ที่ไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน โดยเฉพาะการพิมพ์เสียงละหุเสียงคะรุด้วยเทคโนโลยีทางภาพ เรียกว่า ฉบับสัชฌายะ (Sajjhāya Edition)ซึ่งเรียงพิมพ์ตามสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 46390 และลิขสิทธิ์โค้ดคอมพิวเตอร์ต่างๆ  ปัจจุบันสามารถแสดงผลอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และลำโพงอัจฉริยะต่างๆ 

การออกเสียงปาฬิตามกฎไวยากรณ์ที่เขียนเป็นสัททสัญลักษณ์ในพระไตรปิฎกชุดใหม่นี้ เรียกว่า การออกเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Recitation) และเรียกพระไตรปิฎกนี้ว่า พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (World Phonetic Tipiṭaka : The Sajjhāya Recitation Edition or Sajjhāya Tepiṭaka) ซึ่งรวมถึงฉบับโน้ตเสียงปาฬิด้วย (Pāḷi Notation Transcription Edition)

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลหวังว่าในเบื้องต้นคู่มือสัชฌายะเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ช่วยการออกเสียงปาฬิเพื่อความแม่นตรงสืบต่อไป สมตามพระปณิธานในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 ผู้ทรงพระเมตตาริเริ่มโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน (พระสัมโมทนียกถา พ.ศ. 2542)

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมราชูปถัมภ์โครงการฯ และองค์ประธานการสร้างพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พ.ศ. 2559 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ นำคณะกรรมการผู้ดำเนินโครงการ พร้อมผู้อุปถัมภ์ และราชบัณฑิตที่ปรึกษาโครงการพระไตรปิฎกสากล เข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดปฐมฤกษ์ 10 ชุด ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน กรุงเทพมหานคร

วิธีใช้หนังสือ “คู่มือการออกเสียงปาฬิ” :

หนังสือฉบับนี้มุ่งเน้นการจัดพิมพ์วิธีการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. 2559 โดยนำเสนอทั้งรูปศัพท์ที่เขียนด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) และ รูปเสียง หรือ สัททสัญลักษณ์สากลด้วย โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) นอกจากนี้ยังริเริ่มนวัตกรรมการพิมพ์ QR Code เพื่อให้สืบค้นการออกเสียงสัชฌายะดิจิทัล กล่าวคือ เป็นเสียงในปาฬิภาสาตามหลักไวยากรณ์พระไตรปิฎก และการออกเสียงตัวอย่างคำแปลทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยด้วยเทคโนโลยีทางภาพและเสียง ที่เรียกว่า Streaming Media

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาการออกเสียงสัชฌายะสำหรับนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป และขออนุโมทนาทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และจัดพิมพ์ 

 

(ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์)
ที่ปรึกษามูลนิธิพระไตรปิฎกสากล

 

(ท่านผู้หญิงวราพร  ปราโมช ณ อยุธยา)
ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล