ความเป็นมาโครงการพระไตรปิฎกสากล

 

พระไตรปิฎกปาฬิภาสา-อักษรโรมัน ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พุทธศักราช 2500 ชุด 40 เล่ม

ในปี พ.ศ. 2542 กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชปูถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ริเริ่มโครงการพระไตรปิฎกปาฬิ ฉบับสากล เนื่องจากได้รับการบอกบุญจากต่างประเทศให้อุปถัมภ์ จัดพิมพ์พระคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งบันทึกพระพุทธพจน์ปาฬิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอักษรโรมัน

กองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ได้นำความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ผู้ทรงเป็นผู้แทนผู้เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกปาฬิแห่งประเทศไทยและเข้าร่วมการประชุมสังคายนานานาชาติเมื่อ พ.ศ. 2500 ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระบัญชา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ให้นำต้นฉบับการสังคายนานานาชาติ จากการสังคายนา พ.ศ. 2500 มาจัดพิมพ์เป็นอักษรโรมัน และทรงประกาศแต่งตั้งคณะทำงานตรวจทานต้นฉบับ และจัดพิมพ์เป็นฉบับสากล โดยมีราชบัณฑิตและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่างๆ เป็นที่ปรึกษาและดําเนินการ ซึ่งปัจจุบันดำเนินงานโดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล    

 พระไตรปิฎกปาฬิ ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พุทธศักราช 2500 ชุด 40 เล่ม อักษรโรมัน จัดพิมพ์โดยกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ พ.ศ.2548 ชื่อเป็นอักษรโรมันว่า   Mahāsaṅgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500

และชื่อเป็นภาษาไทยว่า    พระไตรปิฎกปาฬิ ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. 2500  พิมพ์อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 The Buddhist Era 2500 Great International Council Pāḷi Tipiṭaka in Roman-script Edition 2005

พระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นต้นฉบับของพระไตรปิฎกสากลฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา 40 เล่ม) และชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ 40 เล่ม) รวมเป็นชุด 80 เล่ม ซึ่งจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2559 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นองค์พระบรมราชูปถัมภ์ (พ.ศ. 2545) และองค์ประธานการสร้าง (พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน)