คำจำกัดความของ ละหุ [ละหุ] คะรุ [คะรุ]

 

คำจำกัดความของ ละหุ [ละหุ]  คะรุ [คะรุ]

ละหุ  คะรุ  คัมภีร์กลุ่มอภิธานศัพท์ที่อธิบายความหมายของศัพท์ปาฬิ ได้ให้ความหมายไว้เป็นสองลักษณะ คือ รูปธัมม์ และ นามธัมม์ ในความหมายของรูปธัมม์หมายถึง สิ่งที่จับต้องได้ เช่น วัตถุหนัก วัตถุเบา เป็นต้น ส่วนในทางนามธัมม์หมายถึง สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น จิต รูป เสียง กลิ่น  และ รส  เป็นต้น ซึ่งปาฬิภาสาเป็นภาสาที่ถ่ายทอดกันด้วยเสียงอันเป็นนามธัมม์ ความหมายเกี่ยวกับการออกเสียงปาฬิ ที่เป็นละหุ  คะรุ  จึงแสดงไว้ตามหลักฐานอ้างอิงดังต่อไปนี้

เสียง ลหุ [ละหุ]
อ้างอิงในคัมภีร์ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อที่ ๔ ลหุมัต์ตา ตโย รัส์สา        
ลหุมัต์ตา  แปลว่า  มีระยะการออกเสียงเร็ว

ใน ธัม์มสํคณีปาฬิ ในพระไตรปิฎกปาฬิ เล่มที่ ๒๙ ย่อหน้า ๔๒๑ ข้อ ๔๒
ลหุ [ละหุ]  แปลว่า “เร็ว”      
ลหุตา คือ  ความรวดเร็ว ของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
ลหุปริณามตา   คือ  การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ใน อภิธานัป์ปทีปีกาปาฐ อภิธานัป์ปทีปิกาสูจิ อภิธานวัณ์ณนา คาถาที่ ๔๐  
เวโค, ชโว, รโย, ขิป์ปํ, สีฆํ, ตุริตํ, ลหุ, อาสุ, ตุณ์ณ, มรํ, จาวิ, ลัม์พิตํ, ตุวฏ
เป็นศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่า เร็ว ทั้งหมด
คาถาที่ ๙๒๙  ลหุ ศัพท์ ในนปุงสกลิงค์ มีอรรถว่า สีฆ ความเร็ว

ใน ปทรูปสิท์ธิ นามกัณ์ฑ กฎข้อที่ ๒๘๒ สัพ์พาสมาวุโสปสัค์คนิปาตาทีหิ จ เรื่อง เนปาติกปท ว่า
ขิป์ป,   อร,   ลหุ,   อาสุํ,   ตุณ์ณํ,   อจิรํ,   สีฆํ
เป็นศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่า เร็ว ทั้งหมด
        
เสียง ครุ [คะรุ]
อ้างอิงใน อภิธานัป์ปทีปีกาปาฐ อภิธานัป์ปทีปิกาสูจิ อภิธานวรรณนา คาถาที่ ๘๔๐
ครุ [คะรุ] แปลว่า “ช้า”  หรือ “นานขึ้น”
มีอัตถะว่า อลหุกะ คือ หนัก ไม่เบา ไม่เร็ว ไม่ด่วน ไม่พลัน

การที่ปัจจุบันมีความเข้าใจว่า เสียงละหุ แปลว่า เสียงเบา เพียงความหมายเดียว และ เสียงคะรุ แปลว่า เสียงหนัก เพียงความหมายเดียว จึงไม่ตรงตามความหมายในพระไตรปิฎกและคำอธิบายเพิ่มเติมในพระอัฏฐกถา  ที่ว่าด้วยการออกเสียง และอาจเข้าใจว่ามีความหมายเป็นเสียงค่อย (เสียงไม่ชัด) และเสียงดัง (เสียงชัด) ได้ สันนิษฐานว่าความเข้าใจนี้มาจากนักวิชาการตะวันตกที่แปล ละหุ ว่า light (เบา) หรือ quick (เร็ว) คะรุ แปลว่า heavy (หนัก) ซึ่งการแปลว่า light (เบา) เพียงอย่างเดียวไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความสับสนในการออกเสียง และขัดแย้งกับหลักการพยัญชนะกุสละ ๑๐ ที่ว่า ละหุ คือการออกเสียงเร็ว และ คะรุ คือ การออกเสียงนานขึ้น ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปในหลักการออกเสียงพระไตรปิฎกสัชฌายะ