การออกเสียงสัชฌายะ

โครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ทรงมีพระบัญชาให้ดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2542 และปัจจุบันได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก เป็นฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. ตามที่ได้มีพระบรมราชานุญาต ตามรายละเอียดหนังสือสำนักราชเลขาธิการ พ.ศ. 2557-2559 มีหลักการสำคัญ 5 ประการ คือ

1. เสียงสัชฌายะ อ้างอิงตามพระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่อง พยัญชนะกุสละ 10 ประการ โดยอ้างอิงการออกเสียงปาฬิ ตามอักขรวิธีอักษรสยาม พ.ศ. 2436

2. เสียงสัชฌายะ อ้างอิงตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิ ที่อธิบายเรื่อง ทุมหิคะรุ ข้อ 602 และคัมภีร์ไวยากรณ์ที่สำคัญอื่นๆ เช่น วุตโตทัย ที่อธิบายเรื่อง ปาทันตะคะรุ เป็นต้น

3. เสียงสัชฌายะ อ้างอิงตามสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ด้วยโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ เลขที่ 46390 ซึ่งเป็นผลจากการพิสูจน์ด้วย สูตรสกัตคณิตศาสตร์ "ชิดชนก" ว่าเสียงสะกดแยกออกจากเสียงกล้ำอย่างเด็ดขาด เช่น กัต๎วา (ka-tvā) ไม่ใช่ กัตต๎วา (kat-tvā) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เขียนเสียงละหุและเสียงคะรุด้วย

4. เสียงสัชฌายะ เป็นการบันทึกเสียงจากพระไตรปิฎกฉบับโน้ตเสียงปาฬิ ในระบบดิจิทัลจาก พระไตรปิฎกโน้ตเสียงปาฬิ ทั้งชุด รวม 250 เล่ม ซึ่งเป็นการจัดพิมพ์ครั้งแรกในทางดุริยางคศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2559 และได้รับรางวัลการวิจัยดีเด่น พ.ศ. 2562

5. เสียงสัชฌายะ เป็นเสียงในระดับสามัญไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ อ้างอิงตามเสียงสัชฌายะดิจิทัล จากพระไตรปิฎกโน้ตเสียงปาฬิ ทั้งชุด รวมเวลา 3,052 ชั่วโมง หรือ 1.6 เทระไบต์

จากหลักการและตัวอย่างข้างต้น จึงแสดงว่าเสียงสัชฌายะดิจิทัลเป็นการนำเสนอ การเปลี่ยนผ่านในระบบดิจิทัล (Digital Tranformation) ของพระไตรปิฎกสากลที่สุดชุดหนึ่งในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นการนำเสนอการออกเสียงด้วย สัททสัญลักษณ์สากล (Phonetic Symbol) ที่ไม่ซับซ้อน และง่ายต่อการออกเสียงในระดับนานาชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ออกเสียงได้ชัดเจนตามหลักการออกเสียงสังคายนาที่สืบทอดมาตั้งแต่ พ.ศ. 1 

ในเรื่องจังหวะของการออก เสียงละหุ (Lahu) หรือเสียงเร็ว และ เสียงคะรุ (Garu) หรือเสียงที่ลากนานขึ้น เป็นการนำเสนอเป็นครั้งแรกด้วยโน้ตเสียงในทางดุริยางคศาสตร์ ที่มีจังหวะเร็วและนานเป็นมาตรฐาน ซึ่งบุคคลทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย กล่าวคือ  การบันทึกจังหวะพระไตรปิฎกในอดีตของคาถาและคำฉันท์ล้วนมุ่งเน้นจังหวะของสระเสียงสั้น และสระเสียงยาวเป็นหลัก ซึ่งมีการศึกษากันทั่วไป และมักเข้าใจว่าสระเสียงสั้นเป็นละหุ และสระเสียงยาวเป็นคะรุเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วตามหลักการพิเศษทางไวยากรณ์ ได้แก่ เสียงของสระสั้น สามารถเป็นเสียงคะรุได้ คือ เสียงนานขึ้น เมื่อจบบท เรียกว่า ปาทันตะคะรุ และเสียงสระยาว สระเอ หรือ สระโอ เมื่อมีตัวสะกด เป็นเสียงละหุได้ คือ เสียงเร็ว  เป็นต้น 

การเขียนจังหวะในคาถาและฉันท์ที่มุ่งเน้นเสียงสระสั้นและสระยาว จึงอาจต่างจากเสียงสัชฌายะ ที่มุ่งเน้นการออกเสียงละหุและเสียงคะรุอย่างละเอียด ในปัจจุบัน

การออกเสียงสัชฌายะมีจุดเด่นที่ทำให้ผู้ฟังรูปเสียง สามารถเห็นรูปศัพท์ได้อย่างชัดเจน อันเป็นการแก้ไขปัญหา การแทรกแซงทางเสียง (Linguestic Interference) ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการเอาเสียงของอักษรท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงอักขะระปาฬิในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นปัญหาเก่าแก่และยากที่จะแก้ไข

ดังนั้น สัชฌายะจึงเป็นวิธีนำเสนอวิธีการออกเสียงอย่างละเอียดในไวยากรณ์ที่เป็นสากล เพื่อการออกเสียงให้ง่ายและชัดเจนขึ้น และสามารถอ้างอิงได้ในระบบดิจิทัล