นวัตกรรมโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล 

หลักการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล
และนวัตกรรมโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ 

โน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล (The World Tipiṭaka Notation) อ้างอิงไวยากรณ์ในพระไตรปิฎกดังนี้ 

1. ปาฬิในสระเสียงสั้นและสระเสียงยาว
ปาฬิภาสา หรือ เสียงปาฬิ (Pāḷi) มีสระเสียงสั้น (Rassasara) และสระเสียงยาว (Dīgʰasara) ซึ่งไวยากรณ์ระบุให้ต้องออกเสียง เป็นความยาวหนึ่งมาตรา และสองมาตรา เพราะพระวินัยปิฎกบัญญัติในการออกเสียงกัมมวาจาว่า การออกเสียงที่ผิดเพี้ยนหรือไม่ชัดเจนย่อมทำให้ความหมายผิดไป และสังฆกัมม์สำคัญในการบวชย่อมเป็นโมฆะ (พระไตรปิฎกสากล วินัยปิฎก ปริวารวัคค์ ข้อ 455)

กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602
 

2. พยางค์เสียงละหุและเสียงคะรุ
พยางค์สระเสียงยาว (Long Syllable) แม้อาจเรียกว่าเป็นเสียงคะรุ (Garu) แต่เมื่อมีตัวสะกด ไวยากรณ์ระบุให้ออกเสียงสั้น เรียกว่า เสียงละหุ (Lahu) เช่น [เม็ต] ใน [เม็ต-ตา] (กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 4 อธิบายขยายในรูปะสิทธิ ข้อ 5) นอกจากนี้พยางค์สระเสียงสั้นยังต้องออกเสียงลากนานขึ้นให้ชัดเจน ในตอนจบบท เรียกว่า เสียงปาทันตะคะรุ (Pādantagaru) (กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602, วุตโตทะยะ ข้อ 7) เช่น [มิ] ลากเสียง สระ-อิ ยาวขึ้นโดยไม่เปลี่ยนฐานเป็น สระ-อี ใน [นะ-มา-มิ] รวมทั้งสระเสียงสั้นในพยางค์ต้นด้วย เช่น [สะ] โดยลากเสียง สระ-อะ ยาวขึ้นโดยไม่เปลี่ยนฐานเป็น สระ-อา ใน [สะ-กยะ-ปุต-โต] เป็นต้น (กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602)

ทั้งสระเสียงสั้น และสระเสียงยาว ตลอดจน เสียงละหุ (เร็ว) และเสียงคะรุ (นาน) จึงเป็นหลักการสำคัญในการแบ่งพยางค์ และช่วยให้การออกเสียงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันเมื่อออกเสียงสวดอย่างรวดเร็วติดต่อกันโดยไม่หยุดระหว่างคำจึงทำให้ออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกไม่ชัดเจน

3. ตำแหน่งที่เกิดเสียงปาฬิ
ปาฬิ มีเสียงพยัญชนะและเสียงสระ รวม 41 อักขะระ ซึ่งไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ อธิบายว่าเกิดจากการสั่นสะเทือนของลมเมื่อลิ้นเคลื่อนไปสัมผัสอวัยวะต่างๆ ภายในปาก นอกจากนี้ยังมีลักษณะการเปล่งเสียงพิเศษ ได้แก่ เสียงไม่พ่นลม (Unaspirated) เสียงพ่นลม (Aspirated) เสียงไม่ก้อง (Unvoiced) เสียงก้อง (Voiced) เสียงขึ้นจมูก (Nasalised) และเสียงนิคคะหิตในโพรงจมูก (Niggahīta) ซึ่งเสียงเหล่านี้สามารถฝึกให้ออกเสียงถูกต้องได้ทั้งในไวยากรณ์และหลักภาษาศาสตร์ที่เป็นสากล เพราะเป็นพระวินัยปิฎกที่ระบุว่า หากออกเสียงไม่พ่นลม เป็นเสียงพ่นลม หรือ เสียงพ่นลม เป็นเสียงไม่พ่นลม การสวดนั้นย่อมทำให้สังฆกัมม์เป็นโมฆะ และภิกขุย่อมมีความผิดเป็นอาบัติ (พระไตรปิฎกสากล วินัยปิฎก ปริวารวัคค์ ข้อ 455)

เนื่องจากในภาษาท้องถิ่นอาจไม่มีเสียงปาฬิครบถ้วน เช่น ในภาษาอังกฤษไม่มีเสียงพ่นลม ป-พ่นลม เช่น ปาฬิ (Pāḷi) ชาวอังกฤษ ออกเสียงว่า พาลิ แต่พยางค์สุดท้ายต้องออกเสียงฐานหลังปุ่มเหงือก คือ ฬิ แต่ชาวอังกฤษจะเข้าใจว่าเป็น  ส่วนคนไทย จะออกเสียงไม่พ่นลมเป็นเสียงพ่นลม เช่น บุด (bud) จะออกเสียงเป็น พุท เป็นต้น ปัจจุบันจึงเกิดปัญหาที่เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง (Linguistic Interference) ซึ่งเกิดจากการนำเสียงท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎก

4. ปาฬิภาสาเป็นเสียงสามัญ 
เสียงปาฬิ เป็นเสียงสามัญ (Monotone) เพราะเป็นเสียงที่กำเนิดในตระกูลภาษาอินโด-อารยัน ที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ ดังนั้นการออกเสียงดั้งเดิมจึงออกเสียงสัชฌายะเป็นเสียงสามัญเพราะการผันเสียงตามวรรณยุกต์ในภาษาท้องถิ่นย่อมทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไป นอกจากนี้พระวินัยปิฎกยังบัญญัติว่า ห้ามมิให้ภิกขุออกเสียงสวดเป็นทำนองเพลงขับ เพื่อมิให้ติดใจในรูปเสียงต่างๆ อันเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน 

จากหลักการต่างๆ ในพระวินัยข้างต้น มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลจึงได้เชิญรองศาสตราจารย์ ดร. ศศี พงศ์สรายุทธ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้สร้างสรรค์โน้ตเสียงปาฬิสำหรับพระไตรปิฎกสากล โดยนำวิชาการด้านดุริยางคศาสตร์มาบูรณาการกับอักขรวิธีปาฬิภาสาในฉบับสังคายนานานาชาติ มหาสังคีติ ติปิฏะกะ พ.ศ. 2500 ซึ่งจัดพิมพ์เป็น อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 (Mahāsaṅgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500) ชุดสมบูรณ์ 40 เล่มชุดแรกของโลก ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

กระบวนการออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ

 

กระบวนการออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ

 

กระบวนการออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ

 

 

กระบวนการออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ

โน้ตเสียงปาฬิเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้นำผลงานดังกล่าวทำการจัดพิมพ์เป็น ฉบับ สัชฌายะ (Sajjhāya  Edition) ซึ่งมูลนิธิฯ ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย ส.ก. จัดพิมพ์เป็นปก ชุด ส.ก. ชุดมาตราฐาน 40 เล่ม พ.ศ. 2559 คู่กับ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) ชุด 40 เล่ม และต่อมาผลงานการสร้างสรรค์โน้ตเสียงปาฬิชุดนี้ได้รับรางวัลพระราชทานผลงานวิจัยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2562 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. นวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬิ
โน้ตเสียงปาฬิสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ โดยเลือกชุดโน้ตเสียงดนตรีสากลในทางดุริยางคศาสตร์เพื่อบันทึกเสียงให้ตรงกับความยาวของมาตราเสียงสั้น และเสียงยาวในปาฬิภาสา คือ โน้ตหัวดำ (Quarter Note) ซึ่งกำหนดให้มีความยาวหนึ่งมาตรา และโน้ตหัวขาว (Half Note) มีความยาวสองมาตรา 

นับเป็นครั้งแรกที่ระบบโน้ตเสียงปาฬิสามารถนำเสนอมาตรฐานในการบันทึกเสียงมาตราหลักในการออกเสียงพระไตรปิฎกปาฬิ ทำให้การออกเสียงเป็นหมู่คณะสามารถออกเสียงได้พร้อมเพรียงกัน ตามความเร็วที่ต้องการอย่างเป็นเอกภาพ

2. สัททสัญลักษณ์ของเสียงในไวยากรณ์
โน้ตเสียงปาฬิได้นำเสนอการเขียนเครื่องหมายเตนูโต (Tenuto) ตามหลักไวยากรณ์ ซึ่งแสดงการเน้นเสียงพิเศษเพื่อกำกับโน้ตหัวดำ ซึ่งไวยากรณ์ระบุให้เป็นเสียงเร็ว (Lahu) และเขียนเครื่องหมายเตนูโตกำกับโน้ตหัวขาว ที่ไวยากรณ์ระบุให้ออกเสียงนาน หรือเสียงคะรุ (Garu) หรือเสียงที่ลากนานขึ้น 
 

กระบวนการออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ

 

การเขียนเสียงละหุและเสียงคะรุด้วยเครื่องหมายต่างๆ ในทางดุริยางคศาสตร์สากลนับเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการศึกษาเสียงปาฬิในทางภาษาและไวยากรณ์ไปสู่การศึกษาด้วยสัททสัญลักษณ์ (Phonetic Symbol) ทางดุริยางคศาสตร์สากลเป็นครั้งแรก 

3. องค์ประกอบโน้ตเสียงปาฬิ
โน้ตเสียงปาฬิสร้างสรรค์เครื่องหมายประกอบโน้ตเสียงใหม่ 3 ประเภท ได้แก่ 1. หัวโน้ต 2. หางโน้ต และ 3. ปลายหางโน้ต ตามลักษณะพิเศษของเสียงปาฬิ รวม 41 เสียง (พยัญชนะ 33 เสียงทั้ง สระ 8 เสียง) รวมเครื่องหมายทั้งสิ้น 225,964,457 เครื่องหมาย ในโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากลทั้งชุด ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. 2558-2559 ประกอบสิทธิบัตรโปรแกรมเสียงสัชฌายะของมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2557 เลขที่ 46390

กระบวนการออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ

 

สัททสัญลักษณ์ของโน้ตเสียงปาฬิทำให้สามารถเกิดการเปลี่ยนผ่านเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสังเคราะห์ในทางอิเล็กทรอนิกส์กับโปรแกรมสิทธิบัตรและโปรแกรมลิขสิทธิ์ต่างๆ ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งอ้างอิงกับต้นฉบับ จปร. อักษรสยาม หรือ อักขะระสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436 พระไตรปิฎกปาฬิที่ตีพิมพ์เป็นชุดๆ แรกของโลก

สัททสัญลักษณ์ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Symbol) จึงเป็นการแก้ปัญหาการแทรกแซงทางเสียงทางภาษาศาสตร์ในข้อ 3 ข้างต้น เพราะสัททสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ทางดุริยางคศาสตร์สามารถเขียนเสียงปาฬิได้อย่างละเอียดและแม่นตรงกับไวยากรณ์ปาฬิ ต่างจากการเขียนด้วยรูปอักขะระท้องถิ่นโบราณซึ่งเป็นการถอดเสียงปาฬิแบบกว้างๆ และในอดีตมีการออกเสียงผิดเพี้ยนมานานจนเคยชินเป็นประเพณีที่ไม่อาจจะแก้ไขได้ นอกจากนี้เทคโนโลยีทางเสียงในปัจจุบันที่บันทึกเสียงปาฬิในระบบสัชฌายะดิจิทัลทำให้ประชาชนทั่วไปที่มิใช่นักวิชาการสามารถใช้ฝึกการออกเสียงอ้างอิงกับเสียงสัททสัญลักษณ์ชุดใหม่ด้วยประสิทธิภาพรีลไทม์ (real time) การศึกษาด้วยสัททสัญลักษณ์จึงช่วยลดปัญหาการปนแทรกของเสียงท้องถิ่นในเสียงปาฬิดั้งเดิม

4. โน้ตเสียงปาฬิเป็นเสียงสามัญ
โน้ตเสียงปาฬิเป็นการประยุกต์วิธีเขียนโน้ตเสียงปาฬิกับระบบโน้ตเสียงดนตรีสากลได้อย่างแม่นยำในระบบดิจิทัล โดยบันทึกลงบนระบบโน้ตเสียงเส้นเดี่ยว (One-Staff Line) ซึ่งเป็นสัททสัญลักษณ์เสียงสามัญ (Monotone) คือ เป็นเสียงที่ไม่มีระดับสูงต่ำของเสียงวรรณยุกต์ รวมเครื่องหมายอื่นๆ ที่สร้างสรรค์ใหม่สำหรับบันทึกการออกเสียงสัชฌายะจากโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากลดังกล่าวในระบบดิจิทัลเป็นเสียงสามัญที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ รวมเวลา 3,052 ชั่วโมง หรือ 1.6 เทราไบต์

เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) จึงเป็นมาตรฐานในการอ้างอิงพระไตรปิฎกดิจิทัล ฉบับสากล ที่สมบูรณ์ชุดแรก ซึ่งปัจจุบันทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางภาษารัสเซียและภาษาจีนสามารถถอดเสียงปาฬิ และเขียนเป็น สัททะอักขะระปาฬิ (Pāḷi Phonetic Transcription) เป็นชุดอักขะระใหม่สำหรับสร้างพระไตรปิฎกสากลฉบับรัสเซีย เรียกว่า ชุด ปาฬิ-คิรีลลิซะ พ.ศ. 2563 (Pāḷi-Kirillitsa 2020 for Cirillic culture in Russia and Eastern Europe) และ ฉบับจีน เรียกว่า ปาฬิ-พินอิน พ.ศ. 2563 (Pāḷi-Pinyin 2020)
 

มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลขอขอบพระคุณ พลเรือเอก ม.ล. อัศนี ปราโมช ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พ.ศ. 2537 และคุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พ.ศ. 2540 ที่กรุณาเป็นที่ปรึกษาและเขียนคำรับรองการสร้างโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล ตลอดจน ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร และ ศาสตราจารย์ ดร. ณัชชา พันธุ์เจริญ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้กรุณาเข้าร่วมประชุมกับมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลในวาระต่างๆ และตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดวงใจ ทิวทอง หัวหน้าภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กรุณาให้คำแนะนำในโครงการพระไตรปิฎกสากล ฉบับเพื่อการออกเสียงสัชฌายะ โดยเป็นผู้ฝึกซ้อมการออกเสียงสัชฌายะ และอำนวยการบันทึกเสียงสัชฌายะในระบบดิจิทัล ระหว่าง พ.ศ. 2558-2560 ท้ายที่สุดขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ ที่ได้สร้างสรรค์โน้ตเสียงปาฬิ ซึ่งสำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดีในการจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวาระครบ 70 ปี ทรงครองสิริราชสมบัติ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 

Quick Guide to Notation

ต้วอย่างหนังสือโน้ตเสียงพระไตรปิฎกสากล เล่มที่ 1 จากชุด 250 เล่ม ซึ่งจัดพิมพ์ประกอบ ชุดอักขะระต่างๆ รวม 4 กลุ่ม อักขะระชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ของโลก การจัดพิมพ์ QR Code ในแต่ละหน้าสามารถแสดงเสียงสัชฌายะดิจิทัลซึ่งออกเสียงตามโน้ตเสียงปาฬิในชุดนี้
1. กลุ่ม ปาฬิ-โรมัน (สากล)
2. กลุ่ม ปาฬิ-ไต (ไต-ไทย)
3. กลุ่ม ปาฬิ-คิรีลลิซะ (รัสเซียและยุโรปตะวันออก)
4. กลุ่ม ปาฬิ-พินอิน (จีน)

ปาฬิ-โรมัน / ปาฬิ-ไทย

ปาฬิ-ไทย / ปาฬิ-โรมัน 

ปาฬิ-ไทย / ปาฬิ-คิรีลลิซะ  

ปาฬิ-ไทย / ปาฬิ-พินอิน