เสียงสัชฌายะ

 

เสียงสัชฌายะ จากโน้ตเสียงปาฬิ ฉบับสัชฌายะ
ชุด ส.ก. โดย ดวงใจ ทิวทอง

1. ปาฬิ เป็นการออกเสียงที่มีจังหวะ แต่ปัจจุบันมักออกเสียงไม่มีจังหวะ
จังหวะสัชฌายะเสียงปาฬิในอดีตขึ้นอยู่กับบุคคลผู้นำการออกเสียงสัชฌายะ ระดับเสียงของผู้นำ และความรู้ทางไวยากรณ์ปาฬิของผู้นำ และเนื่องจากพระวินัยห้ามมิให้ภิกขุออกเสียงสวดทำนองสูงต่ำเป็นเสียงดนตรี หลักการสำคัญของการออกเสียงปาฬิ จึงเป็นจังหวะของการออกเสียง 2 แบบ คือเกิดจากเสียงสระสั้น และเกิดจากเสียงสระยาว ดังนั้นหากผู้นำออกเสียงสระสั้นและสระยาวไม่ชัดเจน ย่อมทำให้เกิดจังหวะไม่พร้อมเพรียงกัน

2. ปาฬิ มีเสียงละหุ และเสียงคะรุ แต่ปัจจุบันมักไม่ออกเสียงละหุคะรุ
พยางค์เสียงสระสั้น เรียกว่า เสียงละหุ (Lahu) ออกเสียงเร็ว ส่วนพยางค์เสียงสระยาว เรียกว่า เสียงคะรุ (Garu) ออกเสียงให้นานขึ้น ในพระวินัยปิฎก เรื่อง พยัญชะนะกุสะละ (อัฏฐกถาใช้ พยัญชะนะพุทธิ) ห้ามมิให้ออกเสียงปาฬิที่เป็นอักขะระวิบัติ ดังนั้น เสียงละหุ เมื่อเปลี่ยนเป็นเสียงคะรุ จึงต้องมีวิธีเขียนอย่างชัดเจนให้ออกเป็นเสียงคะรุเพื่อป้องกันอักขะระวิบัติ เช่น คัจฉามิ แม้คำว่า มิ เป็นสระสั้น แต่เมื่อเป็นเสียงพยางค์ท้ายบท ไวยากรณ์กำหนดให้ออกเสียงคะรุคือเสียงนานขึ้น เพื่อให้เสียงพยางค์ท้ายชัดเจนเมื่อจบบท (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง กัจจายะนะปาฬิ ข้อ 5 อัญเญ ทีฆา และ อัฏฐกถากัจจายะนะ-ปาฬิ พ.ศ. 1700 ชื่อ วุต์โตทย คาถา 10 ปาทันตะคะรุ, สัททะนีติปะทะมาลา พ.ศ. 1700 ข้อ สมานสุติสัททะวินิจฉะยะ)

3. ปาฬิ เป็นเสียงที่มีระบบการออกเสียงฐาน-กรณ์ แต่ปัจจุบันมักไม่ออกเสียงตามฐาน-กรณ์
เสียงปาฬิ รวมพยัญชนะและสระ 41 เสียง มีคำอธิบายตำแหน่งที่เกิดเสียงฐาน-กรณ์ (อวัยวะในปาก-ลิ้น) ตั้งแต่ในลำคอออกมา จนถึงริมฝีปาก เป็นลำดับ (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง กัจ์จายนปาฬิ ข้อ 2 อัก์ขราปาทโย เอกะจัตตาลีสํ และอัฏฐกถากัจจายะนะ-ปาฬิ ชื่อ มุขมัต์ตทีปนี ข้อ 2 อักขะราปาทะโย เอกะจัตตาลีสัง) และมีคำอธิบายตำแหน่งการเปลี่ยนแปลงของลิ้นที่ทำให้เกิดเสียงต่างๆ เช่น เสียงพ่นลม (Aspirated) และ เสียงไม่พ่นลม (Unaspirated) เป็นต้น (ดู วิจินตน์ ภาณุพงศ์ อ้างอิง กัจจายะนะปาฬิ ข้อ 9 ปะระสะมัญญา ปะโยเค และอัฏฐกถากัจจายะนะ-ปาฬิ ชื่อ รูปะสิทธิ  ข้อ 11 ปรสมัญญา ปโยเค)

4. ปาฬิ เป็นเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ แต่ปัจจุบันมักออกเป็นเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำในภาษาไทย
วินัยปิฎก จุลละวัคคะ บัญญัติห้ามภิกขุทั้งหลายมิให้สวดธัมมะท่วงทำนองยาว เป็นเสียงเพลงขับ (อายะตะเกนะ คีตัสสะเรนะ) หมายถึงเสียงปาฬิเป็นเสียงสามัญ ดังนั้นเมื่อเขียนเสียงปาฬิด้วยอักขะระต่างๆ จึงทำให้อาจติดเสียงวรรณยุกต์ ตามภาษาท้องถิ่นนั้นมาด้วย เช่น (ส) ในภาษาไทยเป็นพยัญชนะเสียงสูงเมื่อประกอบ สระ-โอ จะเป็น วรรณยุกต์เสียงจัตวา เช่น (โส) แต่ปาฬิเป็นเสียงในตระกูลภาษาอินโด-อารยัน ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์ เช่น อักขะระโรมัน ว่า so (โส) ในปาฬิบทว่า itipi so (อิติปิ โส) หรือ สัททะอักขะระโรมัน ว่า [it̪ipi s̪o] ชาวตะวันตกจะไม่ออกเสียงวรรณยุกต์

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวโครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้เชิญศาสตราจารย์ดวงใจ ทิวทอง ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกเสียงตามโน้ตเสียงปาฬิ และบันทึกเสียงจากโน้ตเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก 40 เล่ม จำนวนทั้งสิ้น มีอักขะระ-ปาฬิ 20,304,367 อักขะระ เป็นพยางค์ปาฬิ 9,442,442 พยางค์ คำปาฬิ 154,677 คำ มีพยางค์ที่สำคัญ 2,284 พยางค์ มีความจุเสียง 1.6 เทระไบต์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นคลังข้อมูลเสียงปาฬิจากพระไตรปิฎกฉบับสัชฌายะ ชุดสมบูรณ์ชุดแรก

การออกเสียงสัชฌายะ ในโครงการพระไตรปิฎกสากลได้อ้างอิง บันทึกการออกเสียงที่บันทึกในระบบ MRI ของผู้เชี่ยวชาญการออกเสียงปาฬิ ซึ่งพบว่ามีความถูกต้องแม่นตรงกับหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ อย่างน่าอัศจรรย์

และหลักฐาน MRI นี้ สามารถอธิบายเพิ่มเติมข้อมูลของกัจจายะนะ-ปาฬิ ในอดีตที่กล่าวเฉพาะตำแหน่งของลิ้นกับอวัยวะภายในปากก่อนการเปล่งเสียงของพยัญชนะต่างๆ แต่ MRI ที่บันทึกใหม่ล่าสุด พ.ศ. 2556 ได้แสดงถึงตำแน่งลิ้นก่อนออกเสียง ขณะออกเสียง และสิ้นสุดการออกเสียง ของพยัญชนะและสระปาฬิ รวม 49 เสียง รวมภาพ MRI ทั้งสิ้นประมาณ 600 ภาพ

MRI ได้ทำการบันทึก ณ โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดเชียงใหม่ ภายได้ความควบคุมผู้เชี่ยวชาญด้าน Cine MRI, หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา, และศาสตราจารย์รังสีวิทยาที่ปรึกษาของภาควิชาด้วย

โครงการพระไตรปิฎกสากล ขอขอบพระคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ อีกครั้งหนึ่ง