นวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬิ

นวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬิ

 

โดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำกล่าวที่ว่า “ดนตรีเป็นภาษาสากลของมวลมนุษยชาติ” นั้น ยังคงเป็นอมตะ ไม่เพียงแต่ภาษา (เสียง) ของดนตรีจะได้รับการยอมรับให้เป็นภาษานานาชาติแล้ว  หากแต่ระบบสัญลักษณ์ของการบันทึกโน้ตดนตรีแบบตะวันตกยังเป็นที่ยอมรับและเข้าใจในระดับสากลอีกด้วย  การบันทึกโน้ตเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารในภาษาดนตรีเป็นระบบที่ใช้การสื่อสารผ่านทางสายตาหรือการมองเห็นเพื่อเป็นตัวแทนของการรับรู้ทางหูหรือเสียงที่ได้ยิน  หรืออธิบายอย่างง่าย ก็คือการแปลงเสียงที่ได้ยินผ่านหูออกมาเป็นรูปสัญลักษณ์ที่อ่านได้ด้วยตาด้วยการเขียนรูปสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายแทนเสียงนั่นเอง  โดยชนิดและกระบวนการของการบันทึกโน้ตนั้นมีหลากหลายขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและปริมาณข้อมูลที่ต้องการจะสื่อสาร  ปัจจุบันการบันทึกโน้ตแบบตะวันตกกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย  เนื่องจากเป็นระบบที่สามารถครอบคลุมความเข้าใจในการสื่อสารได้อย่างชัดเจนและกว้างขวางทั่วโลก  

นวัตกรรมการสร้างสรรค์และการออกแบบโน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) เป็นการนำความรู้ของสัททะอักขะระ-ปาฬิ ทางภาษาศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา  มาพัฒนาเป็นสัญลักษณ์ของโน้ตเสียงและการบันทึกโน้ตในทางดุริยางคศาสตร์ตะวันตกที่เป็นมาตรฐานการเขียนเสียงปาฬิได้แม่นตรงเป็นสากล ด้วยระบบสัททะอักขะระ-ปาฬิ ทำให้สามารถบูรณาการต่อจากภาษาศาสตร์สู่ดุริยางคศาสตร์  ผลผลิตที่ได้คือ โน้ตเสียงปาฬิและการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิในระบบสากล การสร้างสรรค์นวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬินี้อาศัยข้อมูลหลักในการอ้างอิงมาเป็นองค์ประกอบจาก 2 ปัจจัย คือ องค์ประกอบการออกเสียงปาฬิจากพระไตรปิฎกสัชฌายะ และ องค์ประกอบการบันทึกโน้ตแบบตะวันตก

สำหรับองค์ประกอบด้านการออกเสียงปาฬิจากพระไตรปิฎกสัชฌายะนั้น  ได้อ้างอิงจากกฎการออกเสียงปาฬิตามไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ พ.ศ. 1 ที่มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้ประมวลและสรุปรวบรวมขึ้นเป็นเอกสารสำคัญสำหรับใช้ในการอ้างอิง

 

องค์ประกอบการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิ 

โน้ตเสียงปาฬิจากพระไตรปิฎกสัชฌายะนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ระดับสากล เพื่อมุ่งเน้นของการออกเสียงละหุ คะรุให้แม่นตรงตามพยัญชนะพุทธิในพระธัมมวินัยซึ่งบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก  โดยอาศัยหลักการบันทึกโน้ตแบบตะวันตกสากลเป็นพื้นฐานในการออกแบบสร้างสรรค์องค์ประกอบของการบันทึกโน้ตเสียงปาฬิที่รังสรรค์ขึ้นนี้ได้ใช้วิธีการดัดแปลง ประยุกต์และประดิษฐ์เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่อันทรงคุณค่าบนรากฐานเดิมที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  โดยศึกษาจากพัฒนาการการบันทึกโน้ตแบบตะวันตกตั้งแต่สมัยกลางที่เป็นการบันทึกโน้ตสำหรับเพลงสวด  การบันทึกโน้ตแบบปัจจุบันสากล  รวมถึงการบันทึกโน้ตของผู้ประพันธ์เพลงยุคใหม่  การบันทึกโน้ตเสียงปาฬินี้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารเสียงปาฬิออกมาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ชัดเจนตามกฎไวยากรณ์ปาฬิ  โดยอาศัยหลักการบันทึกโน้ตแบบสากล  รวมทั้งการประดิษฐ์สัญลักษณ์ใหม่ให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของอักขะระ-ปาฬิที่ใช้ในการอ่านออกเสียงสัชฌายะเพื่อส่งเสริมให้การอ่านออกเสียงปาฬิสามารถทำอย่างง่ายดายและเป็นมาตรฐานสากล

จาก เสียงในอักขะระโบราณ
สู่ การเขียนเสียงด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ ในทางภาษาศาสตร์

จาก การเขียนเสียงด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ ในทางถาษาศาสตร์
สู่ โน้ตเสียงปาฬิ ในทางดุริยางคศาสตร์

 

 

พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) และ  ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ)