การถอดอักษร และ การถอดเสียง

ข้อสังเกต การถอดอักษร (Transliteration) และ การถอดเสียง (Transcription) ในโครงการพระไตรปิฎกสากล

การถอดอักษร หรือที่ทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์เรียกว่า Phonetic Transliteration คือ การแปลงชุดอักษรหนึ่งไปเป็นอีกชุดอักษรหนึ่ง ตามหลักหนึ่งอักษรต่อหนึ่งอักษร เพื่อรักษารูปศัพท์ โดยไม่คำนึงถึงรูปเสียง

การถอดอักษรที่สำคัญในอดีตคือการถอดอักษรขอมในพระไตรปิฎกใบลาน เป็น อักษรสยาม เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นชุดหนังสือชุดแรกของโลก และต่อมามีการถอดอักษรเป็นอักษรโรมัน ซึ่งเป็นอักษรอีกชุดหนึ่งที่คนรู้จักกันทั่วโลก เพราะทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านปาฬิภาสาในพระไตรปิฎกได้ มิใช่จำกัดอยู่แต่คณะสงฆ์หรือนักวิชาการทางภาษาโบราณเท่านั้น การถอดอักษรปาฬิเป็นอักษรสยาม และอักษรโรมัน ได้แก่ ปาฬิ และ Pāḷi

เนื่องจากอักษรขอมในพระไตรปิฎกใบลานใช้ระบบการเขียนซ้อนอักษรไม่มีเครื่องหมายกำกับพยางค์เสียงสะกดและพยางค์เสียงกล้ำจึงทำให้อ่านได้ยาก เพราะผู้อ่านต้องมีความรู้รากศัพท์และไวยากรณ์ว่าการซ้อนอักษรดังกล่าวเป็นพยางค์เสียงสะกดหรือพยางค์เสียงกล้ำ ส่วนอักษรสยามเปลี่ยนอักขรวิธีไม่เขียนซ้อนอักษรแต่เป็นการเขียนอักษรเรียงบนบรรทัดเดียวกันทั้งยังมีเครื่องหมายกำกับพยางค์เสียงสะกดและพยางค์เสียงกล้ำด้วยจึงทำง่ายในการแบ่งพยางค์อ่าน ส่วนอักษรโรมันเป็นที่รู้จักกันเป็นสากลเพราะมีเอกลักษณ์ที่เขียนบนบรรทัดเดียวกันและใช้อักขรวิธีเขียนสระตามพยัญชนะทุกตัวทำให้ง่ายในการอ่าน แม้ไม่มีเครื่องหมายกำกับพยางค์เสียงสะกดและพยางค์เสียงกล้ำเหมือนอักขรวิธีสยามปาฬิแต่คนทั่วโลกก็รู้จักอักขรวิธีอ่านเสียงสะกดและเสียงกล้ำของอักษรโรมันอย่างดีแล้ว

การถอดเสียง เรียกว่า Transcription การถอดเสียง คือ การเขียนรูปเสียง ด้วยสัญลักษณ์ทางเสียงต่างๆ เพื่อให้ใกล้เสียงดั้งเดิมที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่คำนึงถึงรูปศัพท์ในอดีต 

ประโยชน์ของการถอดเสียง

แม้หลักการถอดอักษรจะเป็นที่แพร่หลายได้แก่พระไตรปิฎกในอดีตทุกฉบับของโลกเป็นการถอดอักษรทั้งสิ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังติดอยู่กับเสียงท้องถิ่นของตนทำให้เกิดปัญหาการแทรกแซงทางเสียง (linguistic interference) เช่น การเอาเสียงพ่นลมในท้องถิ่นของภาษาไทยไปปนแทรกกับเสียงปาฬิภาสาดั้งเดิมในพระไตรปิฎก กล่าวคือปาฬิภาสา-อักษรสยามถอดอักษรเป็น /พ/ สำหรับเสียงไม่พ่นลม (บะ) แต่ /พ/ ในภาษาไทยเป็นเสียงพ่นลม (พะ) คนไทยจึงออกเสียงว่า พุท.. แทนที่จะออกเสียงว่า บุด.. (bud..) ในคำว่า bud-dha 

นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงทางเสียงในการแบ่งพยางค์เสียงกล้ำเป็นเสียงสะกด เช่น ญัต๎วา คนส่วนใหญ่ทั่วโลกมักออกเสียงว่า ñat-tvā แต่แท้จริงแล้วไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ระบุว่า  ญะ-ตวา  หรือ  ña-tva โดย สระ-อะ หน้าพยางค์กล้ำให้ออกเสียงลากยาวขึ้นเป็นเสียงคะรุ ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้พยางค์หลังเคลื่อนมากล้ำเสียงกับพยางค์หน้า ตามที่เกิดขึ้นในภาษาถิ่นทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ในตารางการถอดอักษรในพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยามเมื่อศตวรรษที่แล้วจึงมีระบบการถอดเสียงเป็นอักษรโรมันพิมพ์กำกับอยู่ด้วย ได้แก่ พ / b ( บะ หรือ ba ) และมีการสร้างสัททสัญลักษณ์ของพยางค์เสียงสะกด (ไม้วัญฌการ  ์ ) และพยางค์เสียงกล้ำ (ไม้ยามักการ  ๎ ) แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ป้องกันเสียงกล้ำในพยางค์หลังเคลื่อนไปเป็นเสียงสะกดในพยางค์หน้าได้ แสดงว่าการถอดเสียงที่มีรูปสัญลักษณ์ใหม่สามารถสมมุติเขียนรูปเสียงได้แม่นตรงยิ่งขึ้น แม้ปัจจุบันนักวิชาการตะวันตกได้สร้างระบบการถอดเสียงสากลขึ้น ด้วยสัญลักษณ์ที่เรียกว่า สัทอักษรสากล (International Phonetic Alphabet, IPA) หรือที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเรียกว่า สัททะอักขะระปาฬิ ซึ่งสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ อ้างอิงกับ IPA ถือเป็นมาตรฐานของโลก

การถอดเสียงจึงเป็นระบบที่สามารถเขียนเสียงที่ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะสามารถนำสัททสัญลักษณ์ต่างๆ (Phonetic Symbol) มาเขียนเสียงให้แม่นตรงมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หลักการถอดเสียงที่เป็นสากลนี้ทำให้นักวิชาการทางดุริยางคศาสตร์สามารถเข้าใจระบบการเขียนเสียงปาฬิอย่างละเอียดด้วยสัญลักษณ์ทางเสียง มิจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาผ่านไวยากรณ์ปาฬิโบราณ ทำให้สามารถบูรณาการต่อยอดเขียนเสียงปาฬิอย่างรวดเร็วด้วยระบบโน้ตดนตรีสากล เรียกว่า โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2559

จะเห็นได้ว่าการศึกษาทางสหวิชาการ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีทางเสียงที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการใช้สัททสัญลักษณ์สากลในการเขียนเสียงอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการบันทึกเสียงปาฬิจากโน้ตเสียงปาฬเป็นเสียงดิจิทัล ทำให้ประชาชนชาวโลกสามารถฟังเสียงต้นแบบในระบบดิจิทัลแทนการอ่านจากสื่อหนังสือพระไตรปิฎกโบราณ หรือสัททสัญลักษณ์ในทางดุริยางคศาสตร์ ที่สำคัญคือการสร้างเทคโนโลยีทางเสียงแสดงผลทางไวยากรณ์ ได้แก่ พยางค์สระเสียงยาว ในปาฬิภาสา เมื่อมีตัวสะกด ต้องออกเสียงสั้น ซึ่งในอดีตไม่มีวิธีเขียนสระเสียงยาวเป็นเสียงเร็ว หรือ เสียงละหุ แต่เมื่อบันทึกเป็นเสียงดิจิทัลที่เป็นพยางค์เสียงเร็วแล้วย่อมทำให้ผู้ฟังเข้าใจวิธีออกเสียงอย่างชัดเจน 

กล่าวได้ว่า เสียงอ่านปาฬิในระบบดิจิทัล หรือที่เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) เป็นการเปลี่ยนผ่านระบบการบันทึกพระไตรปิฎกจากกฎไวยากรณ์สู่เทคโนโลยีทางเสียง (Digital Transformation of Pāḷi Grammar to Recitation Sound Technology) ผลที่สำคัญคือ บุคคลสามารถฟังเสียงสัชฌายะดิจิทัลในพระไตรปิฎกได้โดยตรงโดยมิต้องผ่านการตีความทางไวยากรณ์ปาฬิ และสามารถฝึกออกเสียงตามได้ โดยเฉพาะในหมู่ยุวชนนานาชาติทั่วโลก โดยไม่มีปัญหาการแทรกแซงทางเสียงที่ในอดีตเกิดจากการอ่านด้วยการถอดอักษร 

กล่าวโดยสรุป เสียงสัชฌายะดิจิทัลที่แสดงทั้งเทคโนโลยีเสียงพระไตรปิฎก พร้อมทั้งรูปโน้ตเสียงที่มีการพิมพ์สัททสัญลักษณ์ต่างๆประกอบ ทำให้สามารถศึกษาเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกได้แม่นตรงยิ่งขึ้น