จุดพินทุบอดในพระไตรปิฎก

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น :
การกำเนิดอักขรวิธีจุดพินทุบอด

1. ภูมิหลัง

ในสารคดี "ไตรปิฎก" ที่เพิ่งเผยแผ่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 เร็วๆ นี้ ในตอนสุดท้าย เรื่อง "การกลับมาของเสียงพระพุทธเจ้า" ได้กล่าวถึงพระไตรปิฎก ฉบับ จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งสารคดีได้ไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เพื่ออธิบายเรื่องอักขรวิธีสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า มีเครื่องหมายกำกับเสียงสะกด และเสียงกล้ำ อันเป็นนวัตกรรมสำคัญในทางสัททสัญลักษณ์ที่ไม่เคยมีชาติใดได้ทำมาก่อน (ดูรายละเอียดการเสวนา วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ โรงภาพยนต์พารากอน)

การค้นพบฉบับ จปร. และเปิดประเด็นการเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกนี้ ทำให้มีคำถามตามมามากมายว่า เหตุใด ฉบับ จปร. อักษรสยาม จึงไม่มีการจัดพิมพ์ต่อมาในปัจจุบัน ? ที่สำคัญคือเหตุใดอักขรวิธีเขียนเสียงในพระไตรปิฎกปัจจุบันจึงเปลี่ยนจาก อักขรวิธีสยามปาฬิ ที่ในสารคดีเรียกว่าอักขรวิธีไม้-อั (อะ) เช่น สัก๎ยปุตโต [สะ-กยะ-ปุต-โต] เปลี่ยนไปเป็น อักขรวิธีจุดพินทุบอด เช่น สกฺยปุตฺโต ซึ่งควรจะต้องออกเสียงเหมือนกัน ว่า [สะ-กยะ-ปุต-โต] แต่ปัจจุบันมักสับสนกับจุดพินทุออกเป็นเสียงสะกด ว่า [สัก-กยะ-ปุต-โต] ซึ่งไม่มีเสียงสะกดนี้ในพระไตรปิฎก ?

อักขรวิธีสยาม-ปาฬิ พ.ศ. 2436
 

สกฺยปุตฺโต

อักขรวิธีพินทุบอด

การแบ่งพยางค์ด้วยอักขะระที่เก่าแก่
คือ อักขะระปัลลวะ แบ่งว่า sa-kya-put-to

ในพระวินัยปิฎกระบุความสำคัญของการออกเสียงปาฬิ ว่า เมื่อควรออกเสียงพยัญชนะให้เป็นสิถิละ (เสียงไม่พ่นลม) แต่ออกเสียงเป็นธนิตะ (เสียงพ่นลม) เมื่อควรออกเสียงพยัญชนะเป็นธนิตะ (เสียงพ่นลม) แต่ออกเสียงเป็นสิถิละ (เสียงไม่พ่นลม) ถือเป็นอักขรวิบัติ ในกัมมวาจา การออกเสียงผิดพลาดในกรณีต่างๆ ซึ่งอาจรวมถึงการออกเสียงแบ่งพยางค์ที่ผิดพลาด ย่อมทำให้สังฆกัมม์เป็นโมฆะได้ แม้การบวชของสงฆ์ก็ไม่สำเร็จ ("พยัญชนะกุสละ" (byañjanakusala)  วินัย​ปิฎก​ปาฬิ ปริ​วาร​วัค​ค์ ข้อ 455, อัฏฐกถา วินัยปิฎก ปริวารวัคค์ข้อ 455 และ 485) 

ด้วยเหตุนี้การสร้างอักขรวิธีการถอดเสียงและเขียนเสียงปาฬิที่ชาญฉลาดในอักขรวิธีสยามที่ตรงกับหลักไวยากรณ์ที่ระบุไว้ในพระวินัยปิฎกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด การเปลี่ยนแปลงอักขรวิธีใดๆ ที่ขาดความความเข้าใจในหลักการถอดอักขะระและถอดเสียง ย่อมมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่ในกรณีการสร้างพระไตรปิฎกต้องหวังให้เกิดผลดีแต่เพียงอย่างเดียว

2. ช่วงเวลาเปลี่ยนแปลง

ข้อสันนิษฐานที่ 2 : อักขรวิธีจุดพินทุบอด น่าจะเกิดขึ้นหลัง รัชกาลที่ 6 สวรรคต พ.ศ 2468 เพราะไม่มีเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงยกเลิกอักขรวิธีสยามปาฬิของพระมหาชนกนาถในฉบับ จปร. พ.ศ. 2436

ข้อมูลเบื้องต้นคือพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม จัดพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2431-2436 ในยุคซึ่งสยามประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก หรือที่เรารู้จักกันดีว่า วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งตรงกับการครองสิริราชสมบัติ 25 ปีในรัชกาลที่ 5 ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม จึงทรงโปรดให้จัดพระไตรปิฎกชุดนี้พระราชทานไปให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศล ครั้งนั้นพิมพ์เป็นชุดแล้ว 39 เล่ม (การแบ่งเล่มสมัยนั้นต่างจากปัจจุบันซึ่งเป็นชุด 40 เล่มบ้าง 45 เล่มบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วฉบับ จปร. ยังขาดการพิมพ์อยู่ 6 คัมภีร์ คือ ชาดก และ เถรีคาถา เป็นต้น) อย่างไรก็ตามการที่สยามประเทศสามารถจัดพิมพ์ได้เป็นชุดถึง 39 เล่ม เป็นหนังสือพระไตรปิฎกนี้ ก็ถือเป็นหนังสือพระไตรปิฎกชุดแรกของโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

4. ความคิดในการจัดพิมพ์ใหม่

ข้อสันนิษฐานที่ 3 : เกิดจากคณะสงฆ์ธัมมยุติกนิกายผู้ที่ร่วมสร้างฉบับ จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งเห็นว่า ฉบับ จปร. ดังกล่าวยังจัดพิมพ์ไม่ครบทุกคัมภีร์  จึงจำเป็นต้องจัดทำใหม่

แต่เหตุผลใดจึงต้องเปลี่ยนเป็นอักขรวิธีจุดพินทุบอดไม่มีปรากฎหลักฐานแน่ชัด 

ข้อสันนิษฐานที่ 4 : อักขรวิธีสยามปาฬิเป็นแนวคิดทางสัททสัญลักษณ์ที่ก้าวล้ำนำยุค กล่าวคือ การริเริ่มใช้สัญลักษณ์ทางเสียงเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก เป็น "รูปเสียง" ที่ทางวิชาการภาษาศาสตร์ปัจจุบันเรียกว่า การถอดเสียง (Phonetic Transcription) ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปยังไม่เข้าใจ เพราะต้องการวิธีเขียน "รูปศัพท์" ที่ง่ายๆ ด้วยอักษรสยาม (Alphabetic Transliteration) เพื่อศึกษาการแปลปาฬิภาสาเป็นภาษาไทยโดยไม่คำนึงถึงการออกเสียงที่ละเอียดตามไวยากรณ์

ตัวอย่างเช่น อักขรวิธีสยามมีการแสดงเครื่องหมายกำกับเสียงเป็นจำนวนมาก เช่น ไม้-อั จะเขียนประกอบกับทั้งไม้วัญฌการ (     ) และ ไม้ยามักการ (  ) เสมอ ซึ่งปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญที่ราชบัณฑิตยสภาสรุปว่า เครื่องหมายเหล่านี้เป็นสัททสัญลักษณ์ ซึ่งแทนเสียงต่างๆโดยเฉพาะอย่างละเอียด (Narrow Phonetic Transcription) 

อย่างไรก็ตามมีพระลิขิตในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เคยเขียนไว้ว่า ฉบับอักษรสยามเป็นการเขียนที่ยุ่งยาก (ดูรายละเอียดเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) เรื่องนี้จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีความพยายามเปลี่ยนอักขรวิธีเขียนเสียงในพระไตรปิฎกอย่างสิ้นเชิง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วัดบวรนิเวศ

ท่านผู้หญิงวรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี
ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติไทย ครั้งที่ 3/2553

5. บุคคลที่เกี่ยวข้อง

จากเอกสารสำคัญที่สถาปนาสมณศักดิ์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ (ดูประกาศสถาปนา พ.ศ. 2471) กล่าวไว้ว่า "..(พระสาสนโสภณ) เป็นผู้ชำระพิมพ์พระบาลีพระไตรปิฎกอันควรแก้ไขพิมพ์ขึ้นใหม่.." 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)
วัดเทพศิรินทร์

ถ้าพิจารณาช่วงเวลาที่พระไตรปิฎกสยามรัฐ จัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นจุดพินทุบอด ที่เรียกว่าฉบับสยามรัฐแทนฉบับ จปร. เมื่อ พ.ศ. 2470 แล้ว คงไม่มีผู้ใดที่จะมีตำแหน่งและอำนาจหน้าที่สำคัญไปกว่าเจ้าประคุณสมเด็จองค์นี้ ที่ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระเปลี่ยนการพิมพ์เป็นจุดพินทุบอด ทั้งท่านยังเป็นศิษย์เอกในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ผู้ที่ทรงไว้วางพระทัยให้ดูงานของคณะสงฆ์ฝ่ายธัมมยุต์มาเป็นเวลานาน 

ข้อสันนิษฐานที่ 5 : เป็นไปไม่ได้ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นี้จะทรงเป็นผู้ดำเนินการสร้างอักขรวิธีจุดพินทุบอด แม้ว่าจะมิทรงโปรดอักขรวิธีสยามปาฬิก็ตาม เพราะได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ พ.ศ. 2464   

นอกจากนี้หลังจากสิ้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าแล้ว ได้มีสมเด็จพระสังฆราชต่อมาอีกพระองค์หนึ่ง คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธ เมื่อพระชนม์ 61 ระหว่าง 2464-2480) แต่ไม่มีหลักฐานว่าทรงทำการชำระแต่อย่างใด และเป็นที่ทราบว่าทรงประชวรไม่น่าจะทรงทำงานใหญ่นี้ได้ นอกจากนี้คณะสงฆ์วัดราชบพิธซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 ได้เป็นหลักสำคัญในการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม จึงเป็นไปไม่ได้ที่คณะสงฆ์วัดนี้จะมีความคิดล้มเลิกอักขรวิธีสยามปาฬิ เพราะปัจจุบันคณะสงฆ์วัดราชบพิธมีธรรมเนียมการสวดตาม ฐาน-กรณ์ ที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ และมีการออกเสียงกล้ำ ในคำว่า [..ตวัน-ตะ-รา-โย] ไม่สับสนว่า  [ภะ-วัต-วัน-ตะ-รา-โย] ซึ่งคำแรกเป็นการออกเสียงกล้ำตามเครื่องหมายยามักการ แต่คำหลังปัจจุบันออกเสียง [วัต] เป็นเสียงสะกด เพราะเข้าใจสับสนว่า จุดพินทุบอดที่แสดงเสียงสะกด เช่น ในคำว่า (ภวตฺว.. ) ซึ่งแท้จริงแล้ว /ต/ เป็น พยางค์เสียงกล้ำกับ ว ที่ตามมา (ตฺว..) (ดูบันทึกการเข้าเฝ้า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ของมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ณ ตำหนักอรุณฯ วัดราชบพิธ)

พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
วัดราชบพิธ

ข้อสันนิษฐานที่ 6 : การชำระเปลี่ยนแปลงเป็นอักขรวิธีพินทุบอดคงขึ้นอยู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2464-2470 ท่านมีอายุ 48-54 

6. ความเป็นไปได้

ข้อสันนิษฐานที่ 7 : ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีการใช้เครื่องพิมพ์ดีดในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย ไม่มีตัวพิมพ์ไม้วัญฌการ (     ) และ ไม้ยามักการ (  ) ในปาฬิภาสา จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องหมายจุดพินทุแทน

จุดพินทุบอดอาจเลียนแบบฝรั่งที่ใช้จุดดังกล่าวในการพิมพ์ปาฬิภาสาในอักษรโรมัน แต่ในอักษรโรมัน จุดดังกล่าวเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของพยัญชนะต่างๆ หลังปุ่มเหงือก ส่วนจุดพินทุของไทยนำมาแสดงทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำเหมือนกันทั้งสองหน้าที่ อย่างไรก็ตามความสะดวกรวดเร็วในการยกร่างพิมพ์ดีดด้วยระบบพินทุย่อมทำให้เกิดความเป็นไปได้ของคณะสงฆ์ในการดำเนินงานใหญ่ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐนี้ให้สำเร็จ ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลก 

จุดในอักษรโรมันแสดงพยัญชนะที่บัญญัติพิเศษเป็นเสียงหลังปุ่มเหงือก
แต่จุดพินทุแสดงพยัญชนะตัวใดก็ได้ที่เป็นเสียงสะกด

สรุป :

ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจค้นคว้าต่อไป สิ่งที่นำมาเสนอมีจุดประสงค์ให้ชาวไทยหวนมาสนใจอักษรสยามปาฬิที่ทรงคุณค่าในการเขียน "รูปเสียง" การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นเพียงความพยายามในการนำเสนอ "รูปศัพท์" ของการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย ตามเจตนาที่ล้วนเป็นกุศลที่จะเผยแผ่พระไตรปิฎก ซึ่งก็มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยในการอนุรักษ์เสียงปาฬิดั้งเดิมตามไวยากรณ์

เกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่อง "อักขรวิธี ไม้-อั (อะ) สยามปาฬิ กับ อักขรวิธี (อฺ) จุดพินทุบอด" มีความสำคัญเพียงใดในปัจจุบัน ?

ดังที่กล่าวไว้ในข้อสันนิษฐานเบื้องต้นทั้ง 7 ข้อ เบื้องต้น สรุปได้ว่า ชาวไทยทั่วไปที่สนใจพระไตรปิฎกยังไม่มีข้อมูลการเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกที่แม่นยำตามกฎไวยากรณ์ ประชาชนทั่วไปไม่เคยศึกษาข้อแตกต่างของ "การถอดอักษร" (Alphabetic Transliteration) และ "การถอดเสียง" (Phonetic Transcription) ตลอดจนความสำคัญของ "รูปศัพท์ปาฬิ" (Transliterated Pāḷi Word) และ "รูปเสียงปาฬิ" (Pāḷi Phonetic Symbol) ซึ่ง รูปเสียงปาฬิที่เขียนด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ ที่อ้างอิงกับอักษรสยาม สามารถเขียนเสียงได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในปัจจุบัน และแม่นตรงกับกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็นต้น

สัททะอักขะระ-ปาฬิ
(saddaakkhara-Pāḷi)

ส่วนผู้เชี่ยวชาญไวยากรณ์ปาฬิในปัจจุบันก็ไม่เคยเห็นต้นฉบับ อักขรวิธี ไม้-อั (อะ) สยามปาฬิ คุ้นเคยแต่ อักขรวิธี จุดพินทุบอด ทำให้บางครั้งก็ออกเสียงสับสนได้ ซึ่งทางภาษาศาสตร์เรียกว่า การแทรกแซงทางเสียง (Linguistic Interference) กล่าวคือ การเอาเสียงในภาษาไทยไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎก เช่น คำว่า กัลยา ในภาษาไทย เป็นทั้งเสียงสะกดและลากเป็นเสียงกล้ำในพยางค์ถัดไป แต่ในปาฬิภาสามี ตัวเดียวในพยางค์เสียงกล้ำ ฉะนั้นจึงต้องออกเสียงว่า กะ-ลยา เป็นต้น

คำเสียงกล้ำที่สำคัญที่มีเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เสียง-อะ ที่ตามด้วยเสียงกล้ำ เช่น อักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักษรสยาม เขียนว่า กัต๎วา  ซึ่งในการพิมพ์เป็นคำสวดภาษาไทย ต้องถอดเสียงตามหลักวิชาการภาษาศาสตร์ที่ต้องแสดงรูป สระ-อะ ตามไวยากรณ์ 602 ว่า  [กะ-ตวา]  

การพิมพ์ในหนังสือสวดมนต์ภาษาไทยเป็นรูปศัพท์ ว่า กัต๎วา จึงเป็นการพิมพ์ตามฉบับ จปร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ดั้งเดิม แต่อักขรวิธีนี้อาจทำให้คนไทยปัจจุบันที่ไม่คุ้นเคยกับอักษรสยามเข้าใจผิดว่า กั.. เป็น ก-ไม้หันอากาศ และออกเสียงสะกด ว่า กัต.. แทนที่จะออกเสียงตาม อักขรวิธีสยาม ไม้-อั (อะ) ที่เป็นเสียงไม่สะกดว่า กะ-ตวา เป็นต้น

ไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602

ดังนั้นเมื่อไม่เข้าใจ หลักการถอดเสียงปาฬิในทางวิชาการภาษาศาสตร์ จึงทำให้ปัจจุบันสับสนในการพิมพ์หนังสือสวดมนต์ในอักขรวิธีจุดพินทุบอด เช่น ตัวอย่างสำคัญของคำที่มีเป็นจำนวนมากอีกคำหนึ่ง ได้แก่ เสียงอุ ตามด้วยเสียงกล้ำ เช่น ตุเม๎ห [ตุ-มเห] ปัจจุบัน เขียนว่า ตุมฺเห ทำให้สับสนออกเป็นเสียงสะกดว่า ตุม-เห และ ตุม-เห-กัง เป็นต้น ซึ่งเป็นการแบ่งพยางค์ที่ไม่ตรงกับไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ทำให้ออกเสียงผิดและไม่มีความหมายในพระไตรปิฎกด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงมีพระราชศรัทธาสนับสนุนโครงการอนุรักษ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม

จดหมายเหตุ โครงการพระไตรปิฎก จปร. อนุรักษ์ดิจิทัล

อ้างอิง :
พ.ศ. 2331 ร.1 สร้างพระไตรปิฎกใบลาน อักษรขอม
พ.ศ. 2431-2436 ร.5 สร้าง ฉบับ จปร. อักษรยาม
พ.ศ. 2453 ร.5 สวรรคต ร.6 ครองราชย์ 
พ.ศ. 2464 พระมหาสมณเจ้าสิ้นพระชนม์ 
พ.ศ. 2468 ร.6 สวรรคต ร.7 ครองราชย์ 
พ.ศ. 2470 พิมพ์พระไตรปิฎกสยามรัฐ

ปัจฉิมลิขิต

ตัวอย่างคำเสียงกล้ำที่มักเขียนผิดและอ่านผิด
ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์นำเสนอการเขียนด้วยสัททะอักขะระ
ทำให้อ่านออกเสียงได้แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ

เอกสารอ้างอิง