เสียงสะกด เสียงกล้ำ ในปาฬิภาสา

เสียงสะกด เสียงกล้ำ ในปาฬิภาสา :
กรณีศึกษาอักขรวิธีในพระไตรปิฎก อักขะระชาติพันธุ์ไต-ปาฬิ

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์  ภาณุพงศ์
รองศาสตราจารย์สมหมาย  เปรมจิตต์  ป.ธ.๙
ศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก  เหลือสินทรัพย์, ราชบัณฑิต
พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค
ศาสตราจารย์ดวงใจ  ทิวทอง
รองศาสตราจารย์ ดร.ศศี  พงศ์สรายุทธ

บทคัดย่อ
เสียงปาฬิ (Pāḷi เดิมเรียกกันว่า บาลี) หรือ ปาฬิภาสา เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สืบทอดมาจากการสังคายนาของพระอรหันตสาวก พ.ศ. ๑ ซึ่งต่อมาสามารถเขียนเสียงปาฬิด้วย “อักขะระ” ของชาติต่างๆ รวมเรียกว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก โจทย์มีว่าชุดอักขะระและอักขรวิธีของชาติต่างๆ มีข้อดีและข้อด้อยต่างกันอย่างไร กล่าวคือ ชุดอักขะระของชาติหนึ่งอาจเขียนเสียงปาฬิได้อย่างแม่นตรง เนื่องจากมีเสียงสระและพยัญชนะที่ครบถ้วนใกล้เคียงเสียงปาฬิดั้งเดิม แต่ชุดอักขะระของอีกชาติหนึ่งอาจไม่มีเสียงสระและพยัญชนะครบถ้วน ทำให้ต้องยืมเสียงในภาษาท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิม ที่เรียกว่า “การแทรกแซงทางเสียง” (Linguistic Interference) บทความนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบเสียงปาฬิที่บันทึกด้วยอักขะระชาติพันธุ์ไตที่สำคัญโดดเด่น ๓ กลุ่ม ได้แก่
 

๑. ไตยวน/ไตขืน/ไตลื้อ มีอักขรวิธีซ้อนอักขะระ

๒.ไตโหลง/ไตคำตี่/ไตอาหม มีอักขรวิธีเครื่องหมายแพ๊ตโดยเขียนเรียงอักขะระบนบรรทัดเดียวกัน


 

๓.ไตสยาม ใช้เครื่องหมายสัททสัญลักษณ์ (เฉพาะฉบับ จ.ป.ร. โดยไม่นับอักขรวิธีพินทุบอด ซึ่งมิใช่สัททสัญลักษณ์ที่แท้จริง) โดยได้มุ่งเน้นพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างการเขียน “เสียงสะกด” และ “เสียงกล้ำ” ซึ่งพบว่า อักขรวิธีที่ ๑. และที่ ๒. ได้แก่ การซ้อนอักขะระและใช้เครื่องหมายกำกับเสียงของชาวไต หรือ ไม้แพ๊ต ยังมีความลักลั่นเพราะผู้ที่ไม่มีความรู้ทางไวยากรณ์มิอาจรู้ได้ว่าพยัญชนะที่ซ้อนกัน หรือ พยัญชนะที่มีเครื่องหมายไม้แพ๊ตนั้นเป็นพยัญชนะเสียงสะกด หรือเสียงกล้ำ ต่างจากอักขรวิธีที่ ๓. ที่เครื่องหมายเสียงสะกด หรือ ไม้วัญฌการ (   ์ ) แยกออกจากเครื่องหมายเสียงกล้ำ หรือ ไม้ยามักการ (  ๎ ) โดยได้มีการพิสูจน์และตรวจสอบด้วยกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็นต้น พิสูจน์ได้ว่าพยางค์เสียงสะกดและพยางค์เสียงกล้ำแยกออกจากกันเด็ดขาดโดยที่เสียงสะกดไม่เคลื่อนไปเป็นเสียงกล้ำ หรือเสียงกล้ำจะไม่เคลื่อนไปเป็นเสียงสะกดได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม ๒๔๓๖ ได้แสดงเครื่องหมายไม้วัญฌการเป็นสัททสัญลักษณ์ที่แสดงเสียงสะกดและเครื่องหมายไม้ยามักการแสดงเสียงกล้ำ โดย ๑ เครื่องหมายทำหน้าที่ ๑ หน้าที่เท่านั้น ไม่แสดงสัททสัญลักษณ์ที่ทำหน้าที่ ๒ หน้าที่ ทำให้เสียงสะกดและเสียงกล้ำมีความชัดเจนไม่คลุมเครือ อันเป็นพัฒนาการอักขรวิธีเสียงปาฬิของไตสยามในพระไตรปิฎกฉบับ จ.ป.ร. พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งไม่เหมือนของชนชาติใด และกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการเขียนเสียงปาฬิในคัมภีร์พระไตรปิฎก ที่ในทางภาษาศาสตร์เรียกว่า “การถอดเสียง” (Transcription) และจากระบบสัททสัญลักษณ์ของ “อักขะระไตสยาม-ปาฬิ” ทำให้ปัจจุบันสามารถวิเคราะห์การแบ่งพยางค์ของปาฬิภาสาได้อย่างเป็นระบบซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยสูตรทางคณิตศาสตร์และจดเป็นสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ ๔๖๓๙๐ (พ.ศ. ๒๕๕๘) สามารถระบุจังหวะระยะเวลาในแต่ละพยางค์ว่า เป็นเสียงละหุ (ออกเสียงเร็ว) หรือ เสียงคะรุ (ออกเสียงนาน) โดยอ้างอิงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ และสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม “โน้ตเสียงปาฬิ พระไตรปิฎกสัชฌายะ” ตลอดจนผลิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถเปล่งเสียงสัชฌายะอัตโนมัติได้ทั้งชุดพระไตรปิฎก จำนวน ๔๐ เล่ม รวมเวลาประมาณ ๓,๐๕๒ ชั่วโมง

คำสำคัญ :  ปาฬิภาสา, อักขะระ, การแทรกแซงทางเสียง, อักขะระชาติพันธุ์ไต, สัททสัญลักษณ์, ไม้วัญฌการ, ไม้ยามักการ, การถอดเสียง, โน้ตเสียงปาฬิ พระไตรปิฎกสัชฌายะ

เสียงสะกด เสียงกล้ำ ในปาฬิภาสา by Dhamma Society on Scribd