พระไตรปิฎกพินอิน

พระไตรปิฎกสากลเสียงสัชฌายะ
สำหรับจีน หรือ พระไตรปิฎกพินอิน

1.  เกริ่น
ภูมิหลังของกำเนิด ปาฬิ-พินอิน
ในโครงการพระไตรปิฎกสากล

เนื่องด้วยสภาวัฒนธรรมไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ในประเทศไทยได้เห็นประโยชน์และมีจิตศรัทธาสนับสนุนโครงการพระไตรปิฎกสากล ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ในปี พ.ศ. 2559 โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้อัญเชิญภาพพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และพระนามาภิไธย ส.ก. จัดพิมพ์บนปกพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. (ต้นฉบับปาฬิภาสา) 40 เล่ม และ ชุด ส.ก. (โน้ตเสียงปาฬิ) 40 เล่ม (ดู หนังสือสำนักราชเลขาธิการ) ซึ่งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เป็นผู้จัดพิมพ์เป็นฉบับสากลรวมชุด 80 เล่ม โดยจะจัดเป็นพระธัมมทานแก่สถาบันสำคัญในระดับนานาชาติทั่วโลก ตามรอยประวัติศาสตร์พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชแห่งกรุงสยาม ได้โปรดให้จัดพิมพ์และพระราชทานเป็นพระธัมมทานไปทั่วโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว

ในการดำเนินงานระหว่างมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลกับสภาวัฒนธรรมไทยจีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ทำให้มูลนิธิฯ เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อสภาวัฒนธรรมไทยจีนฯ ได้ประสานให้มูลนิธิฯ อัญเชิญพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และชุด ส.ก. ดังกล่าว ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ. 2562 อันเป็นปีที่ 70 ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชน จึงเป็นโอกาสที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน โดยเฉพาะเมื่อมีหลักฐานในหอจดหมายเหตุแห่งชาติไทยว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม 1 ชุดแก่สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อศตวรรษที่แล้ว 

ดังนั้นเพื่อให้องค์ความรู้ในพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดนี้ ซึ่งมุ่งเน้นอนุรักษ์วัฒนธรรมการออกเสียงพระไตรปิฎกที่แม่นตรงตามไวยากรณ์เป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้นในยุคเทคโนโลยีทางเสียง โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังพัฒนาอย่างรุดหน้าในโลก โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงได้สร้างสรรค์ชุด ปาฬิ-พินอิน (Pāḷi-Pinyin) สำหรับการบันทึกพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดนี้ เรียกว่า สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ โดยพัฒนาชุดพินอินที่ใช้เขียนเสียงในภาษาจีนแต่เดิมให้มีเสียงครบถ้วนตามเสียงปาฬิในไวยากรณ์พระไตรปิฎก ซึ่งสามารถนำเสนอประกอบการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกทั้งชุดที่เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) โดยได้มีการบันทึกเสียงสัชฌายะดิจิทัลชุดนี้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถนำเสนอผลในระบบดิจิทัลทั้งเสียงและภาพ ซึ่งนอกจากภาพสัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ แล้ว ยังได้เพิ่มภาพ โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) ในทางดุริยางคศาสตร์ที่ถอดเสียงจากสัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ ด้วย อันเป็นการบูรณาการการบันทึกพระไตรปิฎกในระบบดิจิทัลที่ไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน ทำให้ประชาชนชาวจีนที่สามารถอ่านอักขะระพินอินแต่เดิมสามารถอ่านออกเสียงปาฬิ-พินอินชุดใหม่ในฉบับสัชฌายะชุดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวัฒนธรรมทางปัญญาในพระไตรปิฎกของชาวตะวันออก ซึ่งเป็นรากฐานแห่งสันติสุขและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างชาวไทยและชาวจีนที่มีมาช้านาน

เสียงสัชฌายะดิจิทัล AI ซึ่งสามารถบันทึกและแสดงผลดิจิทัลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ข้างต้น จึงเป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะส่งเสริมการเผยแผ่คลังอารยธรรมทางปัญญาในพระไตรปิฎกของมนุษยชาติในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากลจะได้มอบพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พร้อมทั้งต้นแบบอุปกรณ์สัชฌายะอิเล็กทรอนิกส์แก่องค์กรวัฒนธรรมที่สำคัญในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศแรกในปี พ.ศ. 2562 นี้

ชุด สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ ใหม่นี้ สามารถเขียนเสียงปาฬิได้ทั้งชุด 40 เล่ม ในพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน (World Tipiṭaka Edition) จากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นชุดมาตรฐาน 40 เล่ม และยังสามารถสังเคราะห์เป็นเสียงในระบบดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า “World Tipiṭaka Sajjhāya Digital AI” รวมเวลาทั้งสิ้น 3,052 ชั่วโมง หรือ 1.6 เทราไบต์

2. พินอิน หรือ ฮั่นยฺหวี่พินอิน คือ อะไร ?

พินอิน จีนตัวย่อ: 汉语拼音; จีนตัวเต็ม: 漢語拼音 : Hànyǔ Pīnyīn; จู้อิน : ㄏㄢˋ ㄩˇ ㄆㄧㄣ ㄧㄣ แปลว่า สะกดเสียงภาษาจีน คือระบบในการถอดเสียงภาษาจีนมาตรฐาน (Standard Chinese Transcription) ด้วยตัวอักษรโรมันในภาษาละติน เริ่มประดิษฐ์ พ.ศ. 2501 และประกาศใช้เป็นมาตรฐาน พ.ศ. 2522 ความหมายของพินอินคือ "การรวมเสียงเข้าด้วยกัน" (โดยนัยก็คือ การเขียนแบบสัทศาสตร์ หรือ ปาฬิ เรียก สัททะอักขะระ การสะกด การถอดเสียง หรือการเขียนรูปเสียง)

ในปี พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้สร้างระบบการถอดเสียงในอักขะระปาฬิใหม่สำหรับผู้คุ้นเคยกับพินอินแต่เดิม เรียกว่า "สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ 2562" 

สังเกต Demo Video : World Tipiṭaka Sajjhāya Recitation AI ตอน < มังคะละสุตตะ > ได้แสดงผลทั้งภาพและเสียงในระบบดิจิทัล โดยบูรณาการกับ "โน้ตเสียงปาฬิ" (Pāḷi Notation) ในทางดุริยางคศาสตร์สากล เพื่อแสดงจังหวะเสียงละหุ หรือพยางค์เสียงเร็ว และจังหวะเสียงคะรุ  หรือพยางค์เสียงนานขึ้น อันเป็นการเปลี่ยนผ่านการบันทึกพระไตรปิฎกในระบบดิจิทัลที่ไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน

ดู สัททะอักขะระ สีเบาโปร่งเขียนเสียงละหุ และสีเข้มทึบเขียนเสียงคะรุ ซึ่งอ้างอิงตามไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิในพระไตรปิฎก และสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาโปรแกรมสัชฌายะ ของมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล เลขที่ 46390

3. ข้อพิจารณาในการดัดแปลงอักษรพินอิน เป็น อักขะระพินอิน-ปาฬิ สำหรับเขียนเสียงพระไตรปิฎกปาฬิภาสา

1. เสียงอักษรพินอิน ไม่ครบกับเสียงปาฬิ
2. พยางค์อักษรพินอิน-ปาฬิไม่มีความซับซ้อน
3. อักษรพินอินไม่มีเสียงละหุและเสียงคะรุ
4. อักษร พินอิน-ปาฬิ ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ

3.1. เสียงอักษรพินอิน ไม่ครบกับเสียงปาฬิ

อักษรพินอิน มีเสียงพยัญชนะและเสียงสระไม่ครบตามเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงสร้างอักษรพินอิน-ปาฬิให้ครบตามเสียงปาฬิ มีหลักการดังต่อไปนี้

3.1.1 ใช้อักษรพินอินที่เทียบเสียงใกล้เคียงกับเสียงปาฬิที่สุด

เสียงพยัญชนะ : พยัญชนะในภาษาจีนพินอินที่เสียงใกล้เคียงกับพยัญชนะปาฬิ (สีแดง) มี 13 ตัว จึงต้องสร้างพยัญชนะปาฬิพินอินเพิ่มอีก 20 ตัว โดยใช้อักษรโรมันที่รู้จักกันเป็นสากล จำนวน 13 ตัว (สีดำ) ที่ไม่มีในพินอินแต่เดิม และสร้างขึ้นใหม่จำนวน 7 ตัว (สีน้ำเงิน) ให้ครบตามเสียงปาฬิ 33 ตัว (ดูตารางถอดเสียงวิจินตน์)

ตารางวิจินตน์

เสียงสระ : สระเดี่ยวในภาษาจีนที่ใกล้เคียงกับสระปาฬิ มี 5 ตัว (สีแดง) คือ เสียง อา อี อู เอ โอ แต่เนื่องจากรูปสระเดี่ยวของพินอินที่ตรงกับรูปสระสั้นในอักษรโรมันมี 3 รูป คือ a อะ i อิ u อุ แต่พินอินออกเสียงเป็นสระเสียงยาว อา อี อู ดังนั้น ดังนั้นโครงการฯ จึงต้องบัญญัติรูปสระพินอิน-ปาฬิ ขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยใช้รูปสระในอักษรโรมันเพื่อให้ครบตามเสียงปาฬิ กล่าวคือ สระปาฬิมี 8 ตัว (8 เสียง) ส่วนรูปสระเสียงยาว เอ [e] โอ [o] ที่มีในพินอินแต่เดิมใช้แทนเสียงสระเสียงยาวที่มีตัวสะกด ซึ่งเป็นกรณีที่ไวยากรณ์ระบุว่า ให้ออกเสียงเร็ว และได้สร้างสระพินอิน-ปาฬิ ขึ้นใหม่โดยใช้รูป [ē] และ [ō] ในอักษรโรมัน อีก 2 ตัว (2 เสียง) เพื่อแทนเสียงสระเสียงยาวในกรณีที่ไม่มีตัวสะกด  รวมสัททสัญลักษณ์สระพินอิน-ปาฬิ ที่สร้างขึ้นใหม่ จำนวน 10 ตัว (10 เสียง) (ดู ตารางการถอดเสียงวิจินตน์)

ตารางวิจินตน์

3.1.2 เพิ่มอักขะระพินอิน-ปาฬิ ที่ไม่มีอยู่เดิมโดยอ้างอิงกับอักษรโรมัน-ปาฬิ ที่รู้จักกันเป็นสากล เช่น เสียงที่เกิดจากฐานหลังปุ่มเหงือก อักษรโรมัน แสดงด้วยจุดใต้อักษร ดังนี้

อักขะระไทย-ปาฬิ   สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ []
อักขะระไทย-ปาฬิ  สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ []
อักขะระไทย-ปาฬิ  สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ [ḷz]
อักขะระไทย-ปาฬิ  สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ [ṭh]
อักขะระไทย-ปาฬิ  สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ []

3.1.3 เสียงสระ เมื่อประกอบกับพินอิน-ปาฬิ ไม่ออกเสียงวรรณยุกต์เหมือนในภาษาจีนและภาษาไทย สังเกตว่า อักษรจีนพินอินจะมีเครื่องหมายวรรณยุกต์เหนือสระเสมอ แต่สระพินอิน-ปาฬิ จะไม่มีเครื่องหมายดังกล่าว และสังเกตว่า รูปสระพินอิน-ปาฬิ จะอ้างอิงกับรูปสระในอักษรโรมัน (Roman Alphabet) กล่าวคือ แสดงเสียงสั้น เช่น [a] แสดงเสียง สระ-อะ และเครื่องหมายขีดเหนืออักษรแสดงสระเสียงยาว เช่น [ā] แสดงเสียง สระ-อา เนื่องด้วยอักษรโรมัน (Roman Alphabet) เป็นอักษรสากล ชาวจีนที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษย่อมสามารถเรียนรู้และเข้าใจรูปสระ [a] และ [ā] ได้ นอกจากนี้จุดสัญลักษณ์ระหว่างพยางค์ช่วยแสดงการแบ่งพยางค์ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อแสดงผลในระบบดิจิทัลกับโน้ตเสียงปาฬิ ทำให้สามารถเรียนรู้การออกเสียงปาฬิได้อย่างรวดเร็วและสามารถอ่านสัญลักษณ์พินอิน-ปาฬิ ที่สร้างขึ้นใหม่ได้

3.2. พยางค์อักษรพินอิน-ปาฬิไม่มีความซับซ้อน​

เนื่องด้วยอักษรพินอินในภาษาจีนบางพยางค์ต้องใช้อักษรถึง 4 ตัว เช่น คำว่า เอียง iang และ อวง uang จะเห็นว่าเป็นการใช้สระหลายตัวซึ่งเป็นสระผสมในการเขียนคำหนึ่งคำ แต่พินอิน-ปาฬิ ที่สร้างขึ้นสำหรับ 1 เสียงปาฬิ มีอักษรอย่างมากเพียง 3 ตัวเท่านั้น เช่น เสียงหลังปุ่มเหงือก ฏ ฐ ฑ ฒ ณ  หรือ [ฏะ] [ฐะ] [ฑะ] [ฒะ] [ณะ] พินอิน-ปาฬิ จะแทนด้วย [ḍa] [ṭa] [ḷza] [ṭha] [ṇa] 

3.3. อักษรพินอินไม่มีเสียงละหุและเสียงคะรุ
อักษรพินอินไม่มีเสียงละหุคะรุ ส่วนในปาฬิภาสามีเสียงละหุและเสียงคะรุ กล่าวคือ ไวยากรณ์ระบุว่า สระสั้นเป็นเสียงละหุ ออกเสียงเร็ว สระยาวเป็นเสียงคะรุ ออกเสียงนานขึ้น และในปาฬิภาสายังมีตำแหน่งที่ไวยากรณ์ระบุให้ออกเสียงพิเศษ เช่น สระสั้น ที่เป็นเสียงละหุ เมื่ออยู่ในพยางค์ต้นบทและท้ายบท ให้ออกเสียงสระสั้นนั้นนานขึ้น เป็นเสียงคะรุ เช่น นะ ใน นะโม อะ ใน อะภิกกันตะวัณณา และ มิ ใน คัจฉามิ โดยไม่เปลี่ยนรูปสระสั้นแต่ลากเสียงให้นานขึ้น สังเกตุในการแสดงผลเสียงละหุ แสดงด้วยสีเบาโปร่ง เสียงคะรุ แสดงด้วยสีเข้มทึบ

3.4. อักษร พินอิน-ปาฬิ ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ

ภาษาจีนพินอินมีเสียงวรรณยุกต์ แต่ปาฬิไม่มีเสียงวรรณยุกต์ เพราะฉะนั้นในพินอิน-ปาฬิ จะไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์สูงต่ำเหนือสระ ซึ่งแสดงถึงเสียงวรรณยุกต์สามัญในภาษาจีน ทำให้ผู้ที่คุ้นเคยกับพินอินแต่เดิมสามารถออกเป็นเสียงสามัญได้ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก ฉบับสัชฌายะ ซึ่งมุ่งเน้นการออกเสียงปาฬิซึ่งเป็นภาษาในตระกูลอินโด-อารยัน ที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ

4. ปัจฉิมลิขิต

การสร้างชุด สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ 2562 เป็นการน้อมรำลึกถึงการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ใน พ.ศ. 2562 และอนุสรณ์ในสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ซึ่งได้เสด็จจาริกไปเผยแผ่พระไตรปิฎกในสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์แรกจากราชอาณาจักรไทย และองค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-2562

องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล

5. กล่าวโดยสรุป

5.1. สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ ชุดแรก

โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถนำองค์ความรู้ของเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ และอักษรโรมัน-ปาฬิ มาพัฒนาเป็น สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ (SaddaAkkhara Pinyin-Pāḷi) โดยอ้างอิงการถอดเสียงที่ได้นำเสนอในตารางการถอดเสียงวิจินตน์ (ดูภาพ) ซึ่งในอนาคตหากมีข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญชาวจีนก็จะสามารถปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านั้นให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการจัดทำในฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นมาตรฐานโดยปราศจากข้อผิดพลาดเพราะได้จัดทำตามโปรแกรมการแบ่งพยางค์สัชฌายะที่ได้รับสิทธิบัตร เลขที่ 46390

5.2. การออกเสียง อักขะระพินอิน-ปาฬิ 

เสียงปาฬิที่แสดงผลในระบบดิจิทัลพร้อมกับสัททสัญลักษณ์พินอิน-ปาฬิ เป็นเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ คนจีนที่คุ้นเคยกับเสียงวรรณยุกต์ในภาษาจีน ย่อมสามารถออกเสียงได้เป็นเสียงสามัญ หรือ เสียงระดับที่ 1 ซึ่งจะทำให้ออกเสียงสามัญเป็นเสียงที่สามารถฟังได้ชัดเจน ข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำเสนอเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎกแก่สังคมจีนในปัจจุบัน ซึ่งหากชาวจีนที่คุ้นเคยกับเสียงปาฬิที่ไม่มีวรรณยุกต์ข้างต้น ย่อมสามารถออกเสียงตามไวยากรณ์ได้อย่างแม่นตรงและไม่เกิดปัญหาการแทรกแซงทางเสียงในประเทศต่างๆ ซึ่งมักเอาเสียงในภาษาท้องถิ่นไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิม นอกจากนี้เสียงปาฬิที่นำเสนอในการออกเสียงสัชฌายะดิจิทัลยังเป็นการแสดงเสียงสระเดี่ยวจำนวน 8 เสียง ได้แก่ อะ [a], อา [ā], อิ [i], อี [ī], อุ [u], อู [ū], เอ [ē], โอ [ō] หรือเมื่อมีตัวสะกดจะออกเสียงเร็วเป็น [e] และ [o] ซึ่งเป็นต้นเสียงสระที่ชัดเจน ต่างจากเสียงสระผสมที่บันทึกคัมภีร์พระพุทธศาสนาในภาษาสันสกฤตอันเป็นข้อแตกต่างระหว่างเสียงปาฬิในพุทธศาสนาเถรวาท ต่างจากวัฒนธรรมการใช้ภาษาสันสกฤตที่บันทึกในคัมภีร์พุทธศาสนามหายานของจีนในอดีต

5.3. การศึกษา อักขะระพินอิน-ปาฬิ 

การแสดงผลการบันทึกพระไตรปิฎกในระบบดิจิทัลในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถแสดงผลทั้งภาพและเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโน้ตเสียงปาฬิในทางดุริยางคศาสตร์ที่กำหนดจังหวะและมาตราของเสียงปาฬิได้ชัดเจนเป็นมาตราสากล ซึ่งไม่เคยมีการจัดทำมาก่อน ทำให้เกิดการเรียนรู้และมีผลให้บุคคลทั่วไปที่มิใช่นักวิชาการทางภาษา หรือ ภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาสามารถออกเสียงได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางเสียงและภาพเป็นสื่อการเรียนรู้ อันเป็นการก้าวข้ามปัญหาทางวัฒนธรรมด้านศาสนาในอดีต ซึ่งคัมภีร์พระพุทธศาสนาจำกัดอยู่ในหมู่นักบวชและนักวิชาการขั้นสูงเท่านั้น

5.4. การเผยแผ่ อักขะระพินอิน-ปาฬิ 

ตัวอย่างการสร้างอุปกรณ์สัชฌายะดิจิทัลเป็นตัวอย่างในการก้าวสู่เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางเสียง เช่น การแปลงข้อความเป็นเสียงสังเคราะห์ (Text to Speech) การสังเคราะห์เสียง (Speech  Synthesis) และ เทคโนโลยีการรู้จำเสียงพูด (Speech Recognition Technology) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในวัฒนธรรมการอนุรักษ์เสียงปาฬิในพระไตรปิฎก หรือ วิชาการทางนิรุกติศาสตร์ ซึ่งการกำเนิดเสียงดั้งเดิมเป็นหลักสำคัญในการบัญญัติความหมายของเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก กล่าวคือการมุ่งเน้นการทรงจำเสียงดั้งเดิมที่สืบทอดจากการสังคายนา พ.ศ. 1 โดยพระอรหันตเถระ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ขอขอบคุณ พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และคณะ ที่ดำเนินการออกแบบ อักขะระพินอิน-ปาฬิ ชุดนี้ เพื่อจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด อักขะระพินอิน-ปาฬิ พ.ศ. 2562

5.5 ขั้นตอนการสร้างสรรค์สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ พ.ศ. 2562
5.5.1 การอ้างอิงพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม  
โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
        พ.ศ. 2436

อนุรักษ์และจัดพิมพ์เป็นฉบับสากล
โดย มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล
       พ.ศ. 2548

5.5.2 ถอดเสียงปาฬิ เป็นสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ และ International Phonetic Alphabet (IPA)  
โดย อ.สิริ  เพ็ชรไชย ป.ธ.9, 
       ศ.กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์  (Ph.D., Linguistics, London), 
       พ.อ. (พิเศษ) สุรธัช  บุนนาค (Patent 46390)
            โครงการพระไตรปิฎกสากล
             พ.ศ. 2554

5.5.3 ​สร้างสรรค์โน้ตเสียงปาฬิ
โดย รศ.ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ
​       คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 
       พ.ศ. 2557-2558

5.5.4 ควบคุมการออกเสียงสัชฌายะและบันทึกในระบบดิจิทัล
โดย ศ.ดวงใจ ทิวทอง
​        คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 
        พ.ศ. 2558-2559

5.5.5 ให้เสียงสัชฌายะตามการแบ่งพยางค์สิทธิบัตร เลขที่ 46390
โดย พ.อ. (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค (ผู้สร้างสรรค์สิทธิบัตร) และคณะ 
        พ.ศ. 2557

5.5.6 สร้างฐานข้อมูลเสียงสัชฌายะ AI
โดย ปิยะพงษ์ รักพงษ์ไทย และคณะ 
       พ.ศ. 2559

5.5.7 ตรวจสอบตารางการถอดเสียงปาฬิ
โดย ศ. (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังสี (Ph.D., Linguistics, Copenhagen)
       อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร
        พ.ศ. 2562

5.5.8 ถอดเสียงสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ เป็น สัททะอักขะระพินอิน-ปาฬิ หรือ Pinyin Phonetic Alphabet-Pāḷi
โดย ดร.กวิชช์ ธรรมิศร
       ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษมหาวิทยาลัยนเรศวร
       พ.ศ. 2562

5.5.9 ตรวจสอบสัททะอักขะระปาฬิ-พินอิน
โดย ผศ.ดร.ภูริวรรณ วรานุสาสน์
       ดร.ชนัญญา พวงทอง
            ภาควิชาภาษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยนเรศวร 
            พ.ศ. 2562

5.5.10 สร้างระบบรักษาความปลอดภัย และบรรจุลงในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
โดย ผศ.ดร. สุชาติ แย้มเม่น
            คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
       พีระ สำเภาเงิน
            ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร 
            พ.ศ. 2562

5.5.11 เผยแผ่พระไตรปิฎกสากล เสียงสัชฌายะดิจิทัล
โดย ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา
       ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล 
       พ.ศ. 2562

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ 

ที่ปรึกษามูลนิธิพระไตรปิฎกสาล
และ
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค 
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

1V Pinyin.siam by Dhamma Society on Scribd