อักขะระ-ปาฬิ สำหรับพระไตรปิฎกสากล

อักขะระ-ปาฬิ และ สัททะอักขะระ-ปาฬิ สำหรับพระไตรปิฎกสากล
(Pāḷi Alphabet and  Pāḷi Phonetic Alphabet for the World Tipiṭaka)

โจทย์สำคัญในการอ่านออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกที่คนส่วนใหญ่ต้องศึกษาและแก้ไข คือ ปรากฏการณ์ในทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ที่เรียกว่า “การแทรกแซงทางเสียง” (Linguistic Interference) กล่าวคือการเอาเสียงท้องถิ่นของภาษาหนึ่งไปปนแทรกกับเสียงปาฬิดั้งเดิมในพระไตรปิฎก เช่น คนไทยมักออกเสียงว่า [พะ] ซึ่งเป็นเสียงพ่นลม (Aspirated) ใน คำว่า พล / bala ที่แทนเสียง [บะ] ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่พ่นลม (Unaspirated) ตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็นต้น

เรื่องนี้ในทางวิชาการภาษาศาสตร์อาจเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในด้านพัฒนาการของภาษา แต่พระวินัยปิฎกในพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าการออกเสียงไม่พ่นลมเป็นเสียงพ่นลมเป็นการผิดพระวินัยในสังฆกัมม์ เช่น กัมมวาจา เพราะในทางนิรุตติศาสตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องเสียงและความหมายนั้น การออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกที่ผิดพลาดย่อมทำให้ความหมายที่นิยามไว้ในพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไปด้วย (ฉบับสากล พระวินัยปิฎก ปริวารวัคค์ 455)

ด้วยเหตุนี้ ในพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 จึงได้จัดพิมพ์ตารางการถอดเสียง (Syām-Roman Transcription Table) เป็นคู่มือในการออกเสียงปาฬิเพื่อมิให้เอาเสียงในภาษาไทยมาปนแทรกกับเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก เช่น พ เทียบกับ b ออกเสียง [บะ] / [ba] และ ท เทียบกับ d ออกเสียงว่า [ดะ] / [da] เป็นต้น คู่มือนี้จึงแสดงว่าได้มีความพยายามแก้ปัญหาการแทรกแซงทางเสียงในการศึกษาพระไตรปิฎกในไทยมานานนับศตวรรษแล้ว ซึ่งการนำอักขะระโรมัน เช่น buddha และ vandāmi มาเทียบในระบบการพิมพ์ทำให้เกิดประสิทธิ์ภาพในทางการศึกษาเสียงปาฬิในระดับวิชาการ แต่ปัจจุบันประชาชนคนไทยทั่วไปก็ยังไม่เข้าใจ โดยยังออกเสียงในภาษาไทยปนแทรกกับเสียงปาฬิ ว่า [พะ..] แทน [บะ..] ในคำว่า bud.. และ [ทา..] แทน [ดา..] ในคำว่า vandā.. เป็นต้น 

การใช้อักขะระสยามเขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก ฉบับ จ.ป.ร. จึงเป็นการริเริ่มการการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกโดยใช้ สัทอักษร หรือ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเขียนตามหลักการถอดเสียงใหม่ ว่า สัททะอักขะระ-ปาฬิ

ในบทความนี้ จะได้กล่าวถึงปัญหา 3 ประการของการเขียนเสียงปาฬิ ได้แก่

 1. การเขียนรูปเสียงปาฬิ (Pāḷi) ด้วยรูปอักขะระสยาม และอักขะระไทย

 2. การแบ่งพยางค์คำปาฬิในพระไตรปิฎก (Pāḷi Syllabic Segmentation)

 3. การเขียนเสียงปาฬิด้วยสัททสัญลักษณ์ต่างๆ (Phonetic Symbols) 

ในข้อ 3 เป็นนำเสนอศักยภาพของความหลากหลายในรูปเขียนของอักขะระไทยในฐานะสัททะอักขะระเขียนเสียงปาฬิ และยังสามารถเขียนเป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญได้ด้วย ซึ่งเป็นเสียงปาฬิดั้งเดิมของภาษาในตระกูลอินโด-อารยัน จากการศึกษาและเปรียบเทียบอักขรวิธีต่างๆ ข้างต้นทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถนำเสนอรูปเขียนใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกในการเขียนเสียงปาฬิ โดยใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูลจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล อักขะระชาติพันธ์ุไต (World Tipiṭaka in Tai Scripts) ตลอดจนบูรณาการเขียนเป็นโน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) และบันทึกการอ่านออกเสียงในระบบดิจิทัล เรียกว่า เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound)

1. การเขียนรูปเขียนเสียงปาฬิ (Pāḷi) ด้วยรูปอักขะระสยาม และอักขะระไทย

ในทาง​วิชาการ​ภาษาศาสตร์ “การถอดอักษร” หรือ ที่โครงการพระไตรปิฎกสากลเรียกว่า “การ​ถอด​อักขะระ” (Transliteration) เป็นการ​แปลง​อักขะระ​หนึ่ง​ต่อ​หนึ่ง เพื่อรักษา “​รูป​ศัพท์” เดิม​ไว้ แต่การ​ถอด​อักขะระของชาติต่างๆ เป็น​ปาฬิ​ภาสา อาจ​ไม่​ตรง​กับ “รูป​เสียง”​ หรือ “การถอดเสียง” (Transcription) ใน​ปาฬิ​ภาสา​เสมอ​ไป นอกจากนี้ยังมีปัญหา​การแทรกแซงทางเสียง​ คือ ​การปนแทรกของเสียง​ใน​ภาษา​หนึ่ง​ที่​มี​ต่อ​อีก​ภาษา​หนึ่ง ​ที่ใน​ทาง​ภาษาศาสตร์เรียก​ว่า Linguistic Interference การออกเสียงและวิธีการเปล่งเสียงปาฬิภาสามีการกำหนดการออกเสียงพยัญชนะและเสียงสระไว้ในไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิอย่างชัดเจน
 
ตัวอย่างการแทรกแซงทางเสียงในหมู่คนไทย
 
เสียงไม่พ่นลม แต่ออกเป็นเสียงพ่นลม [ʰ]
 ค-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [g] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [kʰ]
 ช-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [j] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tcʰ]
 ท-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [d] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]
 พ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [b] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [pʰ]
 ฑ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [ḍ] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]

 เสียงพ่นลม แต่ออกเป็นเสียงผิดฐาน [ṭh] เป็น [th],  [dh] เป็น [tʰ],  [ḍh] เป็น [tʰ]
 ฐ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [ṭh] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]
 ธ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [dh] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]
 ฒ-ปาฬิ สัททะอักขะระ คือ [ḍh] ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย คือ [tʰ]

สังเกต : สัททะอักขะระเสียงพ่นลม แสดงด้วย h-ยก [ʰ] เสียงปาฬิ ท ฑ ฐ ธ ฒ ใช้สัททะอักขะระ

รูปเขียนที่ต่างกัน ส่วนสัททะอักขะระของเสียงไทย ใช้รูปเสียงเดียวกันทั้งหมด คือ [tʰ] ส่วนเสียงปาฬิ ฐ ธ ฒ ซึ่งมีฐานเสียงที่ต่างกัน ใช้สัททะอักขะระที่ต่างกัน คือ [ṭh] [dh] [ḍh] แต่ในภาษาไทยออกเสียงเหมือนกันทั้ง 3 ตัว จึงใช้สัททะอักขะระที่เหมือนกันหมด คือ [th] ดูเพิ่มเติมในตารางการถอดเสียงปาฬิของโครงการพระไตรปิฎกสากล

 2. การแบ่งพยางค์คำปาฬิในพระไตรปิฎก (Pāḷi Syllabic Segmentation)

โครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ (Pāḷi) เป็น อักษรโรมัน ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากล เรียกว่า  อักขะระโรมัน (Roman Script) และได้เผยแผ่ไปในสถาบันการศึกษานานาชาติ เป็นเวลา 6 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2548-2553 ในการนี้ได้พบว่า แม้อักขะระโรมันเป็นอักขรวิธีสากลที่รู้จักกันในนานาประเทศ แต่ผู้ที่สนใจศึกษาพระไตรปิฎกอักขะระโรมันก็ยังไม่มีความชำนาญในการอ่านปาฬิภาสา-อักขะระโรมัน อย่างแท้จริง เมื่อนำปัญหาในการอ่านฉบับอักขะระโรมันมาศึกษาอย่างจริงจังก็พบว่า มีปัญหาในการแบ่งพยางค์อักขะระโรมัน โดยเฉพาะในคำศัพท์ที่มีพยางค์เป็นจำนวนมาก
 

ปัญหาพื้นฐานเบื้องต้นของอักขรวิธีโรมัน คือ พยัญชนะโรมันมีเสียงไม่ครบเมื่อเทียบกับเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก เช่น มีพยัญชนะเสียง ก์ k แต่ไม่มีพยัญชนะเสียง ข์ ดังนั้นจึงต้องใช้พยัญชนะสองตัวสร้างเสียงพยัญชนะ ข-ปาฬิ ได้แก่ kh โดย h เป็นสัญลักษณ์เสียงพ่นลม (Aspirated Sound) ดังนั้นเมื่อเขียนคำว่า “อักขะระ” เป็น อักขะระโรมัน ว่า akkhara จึงเป็นการยากในการแบ่งพยางค์ในการอ่านสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับศัพท์ปาฬิ ปัจจุบันแม้มีระบบการพิมพ์ยกตัวอักขะระ h ให้สูงขึ้น เช่น akkhara ได้แก่ kh แม้เป็นรูปเขียนสองอักขะระแต่สามารถเห็นเป็นหนึ่งรูปเสียงชัดเจนขึ้น ปัญหาการแบ่งพยางค์นี้จึงลดลง 

ปัญหาของคนไทยที่อ่านอักขะระโรมันไม่แคล่วคล่องอาจเป็นเพราะชาติไทยมิได้มีประวัติศาสตร์เป็นชาติอาณานิคมของตะวันตก ดังนั้นปัจจุบันจึงมิได้ใช้ภาษาอังกฤษที่เขียนด้วยอักขะระโรมันเป็นอักขะระประจำชาติ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย แต่ที่สำคัญคือ ปาฬิเป็นภาษาที่มีอักขรวิธีเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ มีการเขียนและอ่านที่มีหลักการที่ชัดเจนเป็นของตน ได้แก่ มีเสียงสะกด (final-consonant sound) เสียงไม่สะกด คือ เสียงสระ-อะ (non-final consonant or a-vowel sound) และเสียงกล้ำ (cluster-consonant sound) แยกออกจากกันชัดเจน โดยมีกฎไวยากรณ์พระไตรปิฎกที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดคือ กัจจายะนะ-ปาฬิ เป็นหลักฐานยืนยัน 

ผู้ที่คุ้นเคยกับอักขรวิธีของชาติตน เช่น ชาวไทยที่มีการออกเสียงสะกดและเสียงกล้ำที่ไม่แยกออกจากกันชัดเจนอาจออกเสียงปาฬิได้ไม่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เช่น อาจออกเสียงสะกดและลากเสียงพยางค์ที่สะกดกลายเป็นพยัญชนะต้นของพยางค์เสียงกล้ำที่ตามมา เช่น คำว่า “กัลยา” ในภาษาไทยมักออกเสียงว่า [กัน-ลยา] ซึ่งต่างจากเสียงในปาฬิภาสา ที่อักขะระสยามปาฬิ เขียนว่า กัล๊ยา อ่านว่า [กะ-ลยา] โดยกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 602 ระบุชัดเจนว่า สระเสียงสั้นที่นำหน้าเสียงกล้ำ ให้ออกเสียงเป็น “เสียงคะรุ” คือ ออกเสียงให้นานขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทั้งสองพยางค์ของคำนี้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่มีทางที่พยางค์หน้าที่เป็นเสียงสะกดจะกลายเป็นพยัญชนะต้นของเสียงกล้ำในพยางค์หลังที่ตามมาได้ ดังที่เกิดขึ้นในภาษาไทย

ปัญหานี้อาจเรียกให้ง่ายว่า  “ปัญหาของการแบ่งพยางค์” ซึ่งปัจจุบันสามารถแก้ไขได้ กล่าวคือ สร้างระบบการเขียนเป็น 3 ประเภท เสียงสะกด เสียงไม่สะกด และเสียงกล้ำ ให้แยกออกจากกันให้ชัดเจน 

ตารางการถอดเสียงพระไตรปิฎก จ.ป.ร. เทียบกับ ตารางการถอดเสียงในโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งพัฒนาจากต้นฉบับพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 แสดงการอ้างอิงลำดับการออกเสียงปาฬิตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 6 ซึ่งกล่าวถึง เสียงพยัญชนะทั้ง 33 เสียง  และข้อ 7 ซึ่งกล่าวถึงตำแหน่งฐานที่เกิดเสียง ซึ่งโครงการพระไตรปิฎกสากลได้จัดทำตารางการถอดเสียงตามฐานกรณ์ที่อ้างอิงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ เพื่ออ้างอิงเป็นสากล 

กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 6.
sesā byanjanā
วัณณะที่เหลือจากสระ 8 ตัว ชื่อว่าพยัญชนะ
พยัญชนะมี 33 ตัว คือ 
 ก ข ค ฆ ง 
 จ ฉ ช ฌ ญ 
 ฏ ฐ ฑ​ ฒ ณ 
 ต ถ ท ธ น 
 ป ผ พ ภ ม 
 ย ร ล ว ส ห ฬ อํ 

กัจจายะนะ-ปาฬิ ข้อ 7.
vaggā pañcapañcaso mantā
พยัญชนะ พวกละ 5 ตัว มี ม เป็นที่สุด ชื่อว่า วัคค์
พยัญชนะวัคค์ มี 25 ตัว คือ 
 ก ข ค ฆ ง เรียกว่า ก-วัคค์
 จ ฉ ช ฌ ญ เรียกว่า จ-วัคค์ 
 ฏ ฐ ฑ​ ฒ ณ เรียกว่า ฏ-วัคค์ 
 ต ถ ท ธ น เรียกว่า จ-วัคค์ 
 ป ผ พ ภ ม เรียกว่า ป-วัคค์  
 

สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ อ้างอิง อักขะระสยาม-ปาฬิ

เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันอักขะระสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. นี้ ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็นระบบที่เรียกว่าพินทุบอด ซึ่งใช้เครื่องหมายจุดแทนทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ ทำให้เกิดการสับสนเรื่องการแบ่งพยางค์ระหว่างเสียงสะกดและเสียงกล้ำมากขึ้น ปัจจุบันคณะสงฆ์จึงไม่คุ้นเคยและไม่สามารถอ่านอักขรวิธีสยามปาฬิได้ การออกเสียงปาฬิในการสวดมนต์ของไทยจึงไม่มีมาตรฐานกลางและไม่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ที่รู้จักกันเป็นสากลทั่วโลก ชุดสัททะอักขะระที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอไว้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจากการศึกษาเรื่องการแบ่งพยางค์ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้โครงการพระไตรปิฎกสากลสร้างเป็นตรรกะในทางคอมพิวเตอร์และสามารถจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิบัตร เลขที่ 46390 (2557) และด้วยสิทธิบัตรนี้ โครงการพระไตรปิฎกสากลจึงสามารถจัดพิมพ์ชุดสัททะอักขะระใหม่ในระบบดิจิทัล โดยแสดงเสียงละหุ (เสียงเร็ว) ด้วยสีเบาโปร่ง และเสียงคะรุ (เสียงนาน) ด้วยสีเข้มทึบ โดยมีจุดแบ่งพยางค์ตามสิทธิบัตรที่แยกเสียงสะกด และเสียงกล้ำออกจากอย่างกันชัดเจน สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ แม้เป็นระบบการเขียนเสียงปาฬิที่ง่ายขึ้น แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำที่ติดมากับอักขะระในภาษาไทย ในการนี้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ได้นำเสนออักขะระอีกชุดหนึ่งซึ่งสามารถเขียนเสียงปาฬิเป็นเสียงสามัญ ดูรายละเอียดหน้าต่อไป

อักขะระปาฬิ อ้างอิงตาม กฎไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ  

จากสัททะอักขะระไทยปาฬิ ซึ่งต้องใช้อักขะระหลายตัวเขียนเสียงปาฬิ โครงการพระไตรปิฎกสากล​จึงพัฒนาให้ง่ายขึ้นเป็นสัททสัญลักษณ์เรียกว่า อักขะระปาฬิ อีกชุดหนึ่ง โดยแสดงรูป​แบบ​การ​สร้างสรรค์​อักขะระ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเสียงปาฬิ เช่น เสียงพ่นลม เสียงไม่พ่นลม เสียงก้อง เสียงไม่ก้อง เพื่อเป็นทางเลือกในการเขียนเสียงปาฬิในการศึกษาการออกเสียงปาฬิตามกฎไวยากรณ์

นอกจากเสียงพ่นลมและเสียงไม่พ่นลมดังที่กล่าวมาแล้ว อักขะระ-ปาฬิ ยังยึดถือ​รูป​ลักษณ์​เดิม​ของ​อักขะระ​สยาม-ปาฬิ​ เป็น​หลัก เช่นอักขะระที่มีฐานที่เกิด​เสียงจาก​ลิ้นแตะ​หลัง​ปุ่ม​เหงือก เช่น ฐ (เดิมอักขะระสยามปาฬิเขียนว่า ฐ เทียบกับอักขะระโรมัน ว่า ṭh) เป็นต้น เนื่องจาก​มี​ความ​เป็น​เอกลักษณ์​แทน​​หน่วย​เสียง​ปาฬิิ ที่เกิดจากปุ่มเหงือก ซึ่ง​อักขะระ​โรมัน​ที่​ใช้แพร่หลายในระดับสากลนานาชาติ​แต่ละ​ตัว​ไม่​สามารถ​แทน​เสียง​ปาฬิ​ทุก​เสียง​ได้​ครบ เช่น ​เสียง​ปาฬิบางเสียง ต้อง​ใช้​สัญลักษณ์โรมันถึง​สาม​ตัว (t  .  h) ​ใน​การ​แทน​เสียง​ได้ อักขะระ​ปาฬิ​ที่​ออกแบบ​ใหม่​จึง​ตรงตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะปาฬิและสอดคล้องกับอักขรวิธีในทางภาษาศาสตร์ และมี​ประสิทธิภาพ​ใน​ทาง​ใช้​งานสำหรับประชาชนทั่วไป เพราะ​ผู้​อ่าน​ที่​คุ้น​เคย​กับ​อักขะระ​สยาม​ปาฬิ สามารถ​สังเกต​เค้าโครง​อักขะระ​เดิม​และ​ออก​เสียง​ปาฬิได้

อักขะระปาฬิจำนวนทั้งสิ้น 52 อักขะระชุดนี้ จะเป็นอักขะระชุดใหม่ของโลก ที่แสดงเสียงปาฬิได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนตามกฎไวยากรณ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการสร้างอักขะระที่เป็นสัญลักษณ์แสดงเสียงปาฬิได้อย่างครบถ้วนและเทียบเท่า จึงจัดได้ว่าอักขะระปาฬินี้สามารถนำเสนอในมาตรฐานสากล ISO/IEC 10646 และ Unicode ได้อีกด้วย และปัจจุบันได้ทำการบันทึกเสียงปาฬิทั้ง 52 เสียง ด้วยระบบ MRI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์สากล เพื่อเป็นข้อมูลใหม่สำหรับอ้างอิงในการฝึกออกเสียงให้แม่นตรงกับกฎไวยากรณ์ปาฬิ ดังกล่าว

 3. การเขียนเสียงปาฬิด้วยสัททสัญลักษณ์ต่างๆ (Phonetic Symbols) 

การเขียนเสียงปาฬิด้วยอักขะระต่างๆ ทำให้อาจติดเสียงวรรณยุกต์ตามภาษาท้องถิ่นนั้นมาด้วย เช่น (ส) ในภาษาไทยเป็นพยัญชนะเสียงสูงเมื่อประกอบ สระ-โอ จะเป็นวรรณยุกต์เสียงจัตวา เช่น (โส) แต่ปาฬิเป็นเสียงในตระกูลภาษาอินโด-อารยัน ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ เช่น อักขะระโรมัน ว่า so (โซ) ในปาฬิบทว่า itipi so (อิติปิ โซ) หรือ สัททะอักขะระโรมัน ว่า [it̪ipi s̪o] ชาวตะวันตกจะไม่ออกเสียงวรรณยุกต์ ในกรณีนี้วัฒนธรรมการออกเสียงในทางตะวันตกที่เป็นสากลมีส่วนป้องกันการแทรกแซงทางเสียงได้ 

จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว จึงเกิดความจำเป็นในการเขียนเสียงอ่านปาฬิ ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ได้ริเริ่มเสนอเป็นชุด “สัททะอักขะระ-ปาฬิ” (Pāḷi Phonetic Alphabet) ในที่ประชุมสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2552 และได้ตีพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกสากล ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 โครงการพระไตรปิฎกสากลได้พัฒนาชุดสัททะอักขะระ-ปาฬิ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอักขะระชาติพันธุ์ไต เรียกว่า สัททะอักขะระไต-ปาฬิ 


 

ตัวอย่างสัททะอักขะระที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่และจัดพิมพ์ใน พ.ศ. 2562  มีลักษณะสำคัญดังนี้

1. [บห] ฐานที่เกิดเสียง คือ ลิ้นแตะริมฝีปาก สัททสัญลักษณ์แสดงเสียงพ่นลม
 [ห] ที่พิมพ์ตัวเล็ก เปรียบได้กับ [h]ที่แสดงเสียงพ่นลม (Aspirated Sound) 
 สระ-โอ เสียงคะรุ พิมพ์สีเข้มทึบ (ดูโครงการพระไตรปิฎกสากล 2559)

2. [จ] ฐานที่เกิดเสียง คือ ลิ้นแตะเพดานแข็ง สัททสัญลักษณ์แสดงเสียงไม่พ่นลม (Unaspirated Sound)
 มีพินทุโปร่งกำกับแสดงเสียงก้อง   
 สระ-อะ เสียงละหุ พิมพ์สีเบาโปร่ง (ดูโครงการพระไตรปิฎกสากล 2559)

3. [น] ฐานที่เกิดเสียงคือ ลิ้นแตะฟันบน ประกอบกับสระเสียงสั้น
 สระเสียงสั้น เมื่ออยู่หน้าพยางค์เสียงกล้ำ เป็นเสียงคะรุ  ออกเสียงนานขึ้น
 สระ-อะ เสียงคะรุ  พิมพ์สีเข้มทึบ (ดูโครงการพระไตรปิฎกสากล 2559)

4. [มฮ] เครื่องหมายโค้งกำกับใต้พยัญชนะเสียงกล้ำ
สระ-อิ เสียงคะรุ พิมพ์สีเข้มทึบ (ดูโครงการพระไตรปิฎกสากล 2559)
ส่วน ห๊ ซึ่งเป็นรูปพยัญชนะปาฬิที่พ้องกับพยัญชนะอักษรสูงในภาษาไทย ที่คนไทยออกเสียงเป็น
วรรณยุกต์เสียงจัตวา แทนด้วย ฮ ซึ่งในภาษาไทยเป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญ ทำให้ลดการแทรกแซงทางเสียง
วรรณยุกต์ของภาษาไทยในการเขียนปาฬิภาสา ซึ่งเป็นเสียงที่ไม่มีวรรณยุกต์สูงต่ำ

สรุป

สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ และ อักขะระ-ปาฬิ เป็นนวัตกรรมการเรียงพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิด้วยสัททสัญลักษณ์เป็นครั้งแรก แต่ในการใช้รูปอักขะระต่างๆ ดังกล่าว ในทางวิชาการอักษรศาสตร์ยังมีขีดจำกัดหลายประการ เช่น สัททะอักขะระยังมิอาจแสดงจังหวะที่ซับซ้อนของเสียงปาฬิ ด้วยเหตุนี้โครงการฯ จึงได้เรียนเชิญรองศาสตราจารย์ ดร.ศศี พงศ์สรายุทธ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ถอดเสียงสัททะอักขะระเป็นโน้ตเสียงปาฬิ และปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถสังเคราะห์เสียงสัชฌายะจากโน้ตเสียงปาฬิดังกล่าว โดยทำการบันทึกในระบบดิจิทัล เป็นเสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) ซึ่งฝึกซ้อมและควบคุมการบันทึกเสียงในระบบดิจิทัลโดยรองศาสตราจารย์ ดวงใจ ทิวทอง ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจกล่าวได้ว่านวัตกรรมโน้ตเสียงปาฬิและเสียงสัชฌายะดิจิทัล เป็นการอนุรักษ์เสียงปาฬิที่ได้สืบทอดมาในพระไตรปิฎกตั้งแต่การสังคายนา พ.ศ. 1 โดยอ้างอิงตามหลักไวยากรณ์กัจจายะนะ-ปาฬิ ซึ่งทำให้สามารถเผยแผ่ด้วยเทคโนโลยีทางเสียงที่ทันสมัยต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จากตัวอย่างของการถอดเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็น สัททสัญลักษณ์ปาฬิ (Pāḷi Symbol) หรือที่เรียกว่า การถอดเสียงเป็นชุดสัททะอักขะระ-ปาฬิ ซึ่งเน้นเสียงวรรณยุกต์สามัญ โดย เลือกพยัญชนะเสียงวรรณยุกต์สามัญในภาษาไทยเป็นสัททสัญลักษณ์ กับชุดอักขะระ-ปาฬิ (รูปที่ 18) ซึ่งเน้นการออกเสียงพ่นล่ม ไม่พ่นลม ตลอดจนเสียงก้อง และไม่ก้อง

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ 
ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค 
ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Pali Notation 2019-V4 by Dhamma Society on Scribd