พระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต

อักขะระชาติพันธุ์ไต ในโครงการพระไตรปิฎกสากล : จาก อักขะระไตสยาม สู่ พระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต-ปาฬิ 

พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักขะระสยาม พ.ศ. 2436 (ดูรูปที่ 1) เป็นพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือชุดแรกของโลก ปัจจุบันโครงการพระไตรปิฎกสากลอักขะระชาติพันธุ์ไต เรียก สยาม ว่า ไตสยาม และจากการศึกษาค้นคว้าในโครงการพระไตรปิฎกสากลนำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าอักขรวิธีที่อาจารย์เรียกว่า ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ ในพระไตรปิฎก จ.ป.ร. เป็นทั้ง การถอดอักขะระ (Alphabetic Transliteration) และ การถอดเสียง (Phonetic Transcription) ควบคู่กันไป (ดูรูปที่ 2) โดยได้ตีพิมพ์อักขะระสยาม เทียบทั้งรูปเขียนพยัญชนะและรูปเสียงปาฬิกับ อักขะระโรมัน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมในทางนิรุตติศาสตร์ที่ก้าวล้ำนำยุค (ดูหนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี เรื่อง อักขรวิธี ละหุคะรุ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ พ.ศ. 2557 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2559)

วิสัยทัศน์และเจตนารมย์ที่มุ่งเน้นการเขียนเสียงปาฬิในฉบับ จ.ป.ร. จึงกล่าวได้ว่าเป็นการริเริ่มการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วย สัททะอักขะระ-ปาฬิ (Pāḷi Phonetic Alphabet) เพราะเป็นการมุ่งเน้นการเขียนรูปเสียงปาฬิที่ไม่เคยมีการจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกทั้งชุดมาก่อน แตกต่างจากพระไตรปิฎกอักขะระนานาชาติชุดอื่นๆ ที่จัดพิมพ์ภายหลัง ซึ่งต่างมุ่งเน้นการพิมพ์แต่รูปศัพท์ ไม่มีรูปเสียงปาฬิ โครงการพระไตรปิฎกสากลได้ทำการศึกษาต้นฉบับ จ.ป.ร. และทำการถอดเสียงปาฬิให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยอ้างอิงกับกฎไวยากรณ์ที่ว่าด้วยการออกเสียง โดยเฉพาะคัมภีร์กัจจายะนะปาฬิที่สำคัญและเก่าแก่ จนสามารถสร้างสรรค์การเรียงพิมพ์รูปเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกเป็น ฉบับการออกเสียงสัชฌายะ (Sajjhāya Recitation Edition) ที่เรียงพิมพ์ด้วย สัททะอักขะระปาฬิเป็นชุดแรก พ.ศ. 2557 (ดูรูปที่ 3) การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยสัททะอักขะระ หรือ สัททสัญลักษณ์สากล ที่สืบค้นได้ง่ายในระบบดิจิทัลจึงเปิดมิติใหม่ในทางสหวิชาการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทำการตรวจสอบความแม่นตรงของการปริวรรติด้านการพิมพ์อักขะระและเปลี่ยนผ่านในทางภาษาศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองความถูกต้องในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (ดูหนังสือราชบัณฑิตยสถาน 80 ปี เรื่อง การสกัดอักขรวิธี ไม้-อั (อะ) อักขะระสยาม-ปาฬิ เป็นสูตรคณิตศาสตร์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก เหลือสินทรัพย์, ราชบัณฑิตสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2557 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2559)

อักขรวิธีสยามปาฬิในฉบับ จ.ป.ร. จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากลได้จดทะเบียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรื่อง การแบ่งพยางค์อัตโนมัติเพื่อเขียนเสียงละหุและเสียงคะรุตามที่ไวยากรณ์ระบุไว้ได้สำเร็จ และได้รับสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ 46390 (พ.ศ. 2557) ซึ่งนับเป็นสิทธิบัตรฉบับแรกที่ว่าด้วยเรื่องพระไตรปิฎก เรียกพระไตรปิฎกเพื่อการออกเสียงฉบับนี้ว่า พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ (The World Tipiṭaka Sajjhāya Phonetic Edition 2016) พ.ศ. 2559 (ดูเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รายละเอียดสิทธิบัตร เลขที่ 46390 โดย พันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค และคณะ เป็นผู้ประดิษฐ์ พ.ศ. 2557) 

พระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตรวมชุดอักขะระชาติพันธุ์ไตต่างๆ ที่สำคัญและจัดพิมพ์เป็นชุดปฐมฤกษ์ พ.ศ. 2563 รวม 18 ชุด แบ่งเป็นชุดหนังสือชุดละ 40 เล่ม ตามการแบ่งเล่มของสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งมีระบบอ้างอิงระหว่างเล่มกับข้อในแต่ละเล่มที่เป็นสากล ทำให้สามารถสืบค้นเนื้อหาในพระไตรปิฎกได้โดยง่าย

นอกจากชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตอักขะระต่างๆ จำนวน 15 ชุดดังกล่าวแล้ว โครงการฯ ยังได้รวบรวมและจัดทำเป็นปทานุกรมพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไต ชุด 100 เล่ม เพื่อใช้ศึกษาอ้างอิงเป็นสากลอีกด้วย สำหรับนักวิชาการในระดับนานาชาติ และสื่อดิจิทัลสามารถสืบค้นที่ sajjhaya.org 

จากการรวบรวมเป็นชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตดังกล่าวข้างต้น ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า อักขรวิธีในชาติพันธุ์ไตสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. อักขรวิธีซ้อนอักขะระแสดงทั้งเสียงสะกดและเสียงกล้ำ 2. อักขรวิธีกำกับเสียงสะกดและเสียงกล้ำด้วยไม้แพ้ด และ 3. อักขรวิธีที่ใช้สัททสัญลักษณ์กำกับเสียงสะกดแยกจากเสียงกล้ำ (ดูรูปที่ 4)

อักขรวิธีประเภทที่ 1 พบในการเขียนเสียงปาฬิด้วยอักขะระไตยวน-ปาฬิ ในดินแดนล้านนา อักขะระไตขืน-ปาฬิ ในเมืองเชียงตุง อักขะระไตลาว-ปาฬิ ในภาคอิสานและประเทศลาว รวมทั้งอักขะระไตลื้อ-ปาฬิ ของแคว้นสิบสองปันนาในตอนใต้ของจีน

อักขรวิธีประเภทที่ 2 พบในการเขียนเสียงปาฬิด้วยอักขะระไตโหลง-ปาฬิ ในรัฐฉาน ตลอดจนอักขะระไตคำตี่-ปาฬิ (Tai Khamti-Pāḷi) อักขะระไตพ่าเก-ปาฬิ (Tai Phāke-Pāḷi) ในรัฐอรุณาจาล และอักขะระไตอาหม-ปาฬิ  (Tai Āhom-Pāḷi) ในรัฐอัสสัมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

อักขรวิธีประเภทที่ 3 พบว่าริเริ่มการเขียนด้วยอักขะระไตสยาม-ปาฬิ และปัจจุบันได้พัฒนาเป็นสัททะอักขะระ สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ (Thai Phonetic Alphabet-Pāḷi) และสัททะอักขะระโรมัน-ปาฬิ (Roman Phonetic Alphabet-Pāḷi) รวมทั้ง อักขะระปาฬิ (Pāḷi Alphabet) ในโครงการพระไตรปิฎกสากล 

สำหรับอักขะระไตดำในเวียดนาม และอักขะระไตจ้วงในจีน มิได้นำมาจัดรวมด้วยในชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต เพราะมิได้มีความโดดเด่นในวัฒนธรรมพระพุทธศาสนา และมิได้มีประวัติรูปอักขะระโบราณที่ใช้เขียนเสียงปาฬิในพระไตรปิฎก

จากการเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างของอักขรวิธีต่างๆ ข้างต้น จะเห็นว่า อักขะระไตสยาม-ปาฬิ มีลักษณะที่โดดเด่นที่เป็นสัททะอักขะระในทางวิชาการภาษาศาสตร์ เพราะมีพัฒนาการเป็นสัททสัญลักษณ์ที่เป็นสากล ทำให้สามารถเรียงพิมพ์พยัญชนะบนบรรทัดเดียวกันได้ นอกจากนี้ยังมีสัททสัญลักษณ์ที่ใช้กำกับเสียงสะกดและเสียงกล้ำที่แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ดังนั้นอักขรวิธีสัททสัญลักษณ์ของไตผู้อ่านจะเห็นแต่ละพยางค์แยกกันอย่างชัดเจนและทำให้ง่ายในการอ่านออกเสียงสัชฌายะที่แม่นตรงตามกฎไวยากรณ์ที่พระอรหันตสาวกสืบทอดเสียงปาฬิมาจากการสังคายนาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล 

โครงสร้างของพระไตรปิฎกทั้งชุด โดยเฉพาะความรู้จากสิทธิบัตรการแบ่งพยางค์ ซึ่งรวมทั้งสิ้น 9,442,442 พยางค์ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ในโครงการพระไตรปิฎกสากลสามารถสร้างเป็นฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลที่สมบูรณ์ที่สุดชุดหนึ่ง กล่าวคือมีศักยภาพที่สามารถปริวรรตข้อมูลเป็นอักขะระต่างๆ เพื่อเขียนพระไตรปิฎกในสื่อดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น อักขะระธัมมะต่างๆ ในคัมภีร์ใบลานและหนังสือพระไตรปิฎกโบราณ ดูตัวอย่างอักขะระชาติพันธุ์ไตอาหม (ดูรูปที่ 5)

เมื่อคณะทำงานในโครงการพระไตรปิฎกสากลเดินทางไปเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล อักขะระโรมัน ในประเทศต่างๆ ระหว่าง พ.ศ. 2548-ปัจจุบัน ได้พบว่าแม้ว่าอักขะระโรมันเป็นชุดอักขะระสากลที่รู้จักกันทั่วโลก แต่ความสามารถในการแบ่งพยางค์และอ่านออกเสียงปาฬิด้วยอักขะระโรมันยังคงจำกัดอยู่แต่ในหมู่นักวิชาการจำนวนน้อยที่ผ่านการศึกษาในประเทศตะวันตก ประชาชนชาวพุทธทั่วโลกยังคงคุ้นเคยกับอักขะระธัมมะในวัฒนธรรมภาษาของตน ไม่คุ้นเคยกับอักขะระโรมัน โดยเฉพาะประชากรชาติพันธุ์ไต หรือ ชนชาติในตระกูลภาษาไต-กะได ที่มีเอกลักษณ์นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทตลอดมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อได้รู้จักโครงการพระไตรปิฎกสากลก็ได้ขอความอนุเคราะห์ ìฉบับสากลî จากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่พิมพ์ด้วยอักขะระไตเป็นธัมมทาน อันเป็นเหตุให้เกิดโครงการพระไตรปิฎกอักขะระชาติพันธุ์ไตขึ้น

โครงการพระไตรปิฎกสากล อักขะระชาติพันธุ์ไต (World Tipiṭaka in Various Tai Scripts) ได้ทำการค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎกในท้องถิ่นชาวไตในดินแดนต่างๆ ได้แก่ รัฐฉานในพม่า ล้านช้างหรือลาวในปัจจุบัน ตลอดจนรัฐอรุณาจาล และรัฐอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และมณฑลยูนานหรือแคว้นสิบสองปันนาในตอนใต้ของจีน ซึ่งได้พบว่าปัจจุบันต้นฉบับพระไตรปิฎกอักขะระไตในท้องถิ่นดังกล่าวได้สูญหายไปหมดแล้ว ทำให้ยุวชนชาวไตในปัจจุบันไม่สามารถอ่านอักขะระธัมมะไตโบราณของตนในอดีตที่ใช้เขียนบนใบลานได้ นอกจากนี้การออกเสียงปาฬิตามพระไตรปิฎกของชาวไตในท้องถิ่นต่างๆ ก็ผิดเพี้ยนไปตามกาลเวลา ไม่ตรงกับเสียงที่ระบุไว้ในไวยากรณ์พระไตรปิฎก

ในเบื้องต้นโครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต ได้นำเสนอการเรียงพิมพ์อักขะระไตชุดต่างๆ ตามต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. 2559 ซึ่งมุ่งเน้นการเรียงพิมพ์คู่ขนานระหว่างอักขะระไตชุดต่างๆ กับ กับสัททะอักขะระไทยในปัจจุบันชุดหนึ่ง และ อักขะระไตกับสัททะอักขะระโรมันที่เป็นสากลอีกชุดหนึ่ง ชุดอักขะระแรกเหมาะกับชาวไตในรัฐฉาน ประเทศลาว และแคว้นสิบสองปันนา ที่มีดินแดนและปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวไทยและคุ้นเคยกับภาษาไทยทำให้สามารถอ่านสัททะอักขะระไทยที่ใช้เขียนเสียงปาฬิได้ ส่วนอักขะระชุดที่สองเหมาะสำหรับชาวไตในรัฐอรุณาจาลและรัฐอัสสัมผู้ที่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษทำให้สามารถอ่านสัททะอักขะระโรมันได้โดยง่าย การเรียงพิมพ์ทั้งสองชุดพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตจึงช่วยให้ง่ายในการศึกษาทั้งการเขียนและการออกเสียงปาฬิในพระไตรปิฎกในหมู่ชาวไต

ชื่ออักขะระไตที่ได้จัดพิมพ์ในโครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตนี้ เป็นศัพท์บัญญัติในโครงการพระไตรปิฎกสากลที่มุ่งเน้นเขียนเสียงของชาวไตในท้องถิ่นต่างๆ อ้างอิงประกอบกับข้อมูลจาก รองศาสตรจารย์ ดร.อนาโต เปลติเยร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์สมหมาย เปรมจิตต์ ป.ธ. 9 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวคือ ใช้คำศัพท์ดั้งเดิมว่า ไต ตามภาษาในตระกูล ไต-กะได (Tai-Kadai) ไม่เรียกว่า ไท-กะได หรือ ไทย-กะได ด้วยเหตุนี้โครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไต จึงเรียกว่า อักขะระไตยวน-ปาฬิ (Tai Yuan-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยล้านนา, อักขะระไตโหลง-ปาฬิ (Tai Lōng-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยใหญ่, อักขะระไตขืน-ปาฬิ (Tai Khün-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยขึน, อักขะระไตลื้อ-ปาฬิ (Tai Lü-Pāḷi) ไม่เรียกว่า อักษรไทยสิบสองปันนา และยังได้รวมถึงเชื้อชาติชาวไทยในปัจจุบันที่โครงการพระไตรปิฎกชาติพันธุ์ไตเรียกว่า ไตสยาม (Tai Syām) ซึ่งเป็นผู้นำชาติพันธุ์ไตในการจัดพิมพ์ อักขะระไตสยาม-ปาฬิ (Tai Syām-Pāḷi) ที่ตีพิมพ์เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกชุดแรกของโลก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว 

การรวบรวมเป็นชุดอักขะระชาติพันธุ์ไตที่หลากหลายจึงทำให้มั่นใจได้ว่าองค์ความรู้เรื่องอักขรวิธีในพระไตรปิฎกสากลย่อมมีความใกล้เคียงกับเสียงปาฬิที่สวดสืบทอดในการสังคายนามาแต่อดีต ซึ่งปัจจุบันสามารถทำการเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ล้ำสมัยเป็น โน้ตเสียงปาฬิ (Pāḷi Notation) ชุด 250 เล่ม เสียงสัชฌายะดิจิทัล (Digital Sajjhāya Recitation Sound) จำนวนความจุ 1.6 เทระไบต์ โดยจะสามารถส่งเสียงพระธัมม์ดังกล่าวในทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังท้องถิ่นชาวไตทั่วโลก รวมทั้งเชื้อสายชาวไตที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรไตไม่น้อยกว่า 200-300 ล้านคน

ขอขอบพระคุณ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิจินตน์ ภาณุพงศ์ ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้ศึกษาอักขรวิธีชาติพันธุ์ไต พร้อมด้วยพันเอก (พิเศษ) สุรธัช บุนนาค นายกกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ และคณะ ที่ดำเนินการออกแบบ บันทึกอักขะระไตไทย-ปาฬิ ชุดนี้ เพื่อจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดอักขะระชาติพันธุ์ไต พ.ศ. 2563

 

ท่านผู้หญิงวราพร  ปราโมช ณ อยุธยา

ประธานมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล