ธัมมบท แปลเป็นภาษารัสเซีย / โน้ตเสียงปาฬิ

คำนำการแปลพระธัมมบท

การแปลพระไตรปิฎกในอดีต อาจสรุปได้ว่ามีความไม่สมบูรณ์ 4 ประการ คือ

1. การแปลในอดีตไม่ได้แปลจากฉบับสากล

การแปลพระไตรปิฎกปาฬิเป็นภาษาต่างๆ ในอดีต ไม่ใช่เป็นการแปลพระไตรปิฎกจากฉบับการประชุมสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ซึ่งจัดพิมพ์เป็นฉบับฉัฏฐสังคีติ อักษรพม่า พ.ศ. 2506 หรือ ถอดอักขะระ เป็น ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 ที่ชาวโลกรับรอง
 

สัททะอักขะระเซีย-ปาฬิ
ถอดเสียงจาก อักขะระโรมัน-ปาฬิ ฉบับสากล 
 

การแปลปัจจุบันโดยโครงการพระไตรปิฎกสากลเป็นการแปลจากฉบับสังคายนาสากลนานาชาติ อักษรโรมัน พ.ศ. 2548 ชุด 40 เล่ม ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาเป็นพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ พ.ศ. 2559 ซึ่งเรียงพิมพ์เสียงปาฬิด้วย สัททะอักขะระไทย-ปาฬิ และ โน้ตเสียง-ปาฬิ

2. การแปลในอดีตไม่สามารถอ้างอิงเสียงปาฬิได้

การแปลในอดีตเป็นการแปลที่ทางวิชาการภาษาศาสตร์ เรียกว่า การถอดอักขะระ (Transliteration) แต่ในอดีตมิได้มีการเทียบการ ถอดเสียง (Transcription) กับกลุ่มคำวิสามานยนาม หรือ คำวิชชมานบัญญัติ เช่น ฉบับ จ.ป.ร. อักขะระสยาม-ปาฬิ เขียนว่า อานัน์ท (Ānanda) ปัจจุบันคนไทยถอดอักขะระเป็น อานันทะ ทำให้แปลศัพท์ว่าอานนท์ จึงทำให้ออกเสียงคำวิสามานยนามผิดไป ดังนั้นจึงควรถอดอักขะระควบคู่กับการถอดเสียง ว่า [อา-นัน-ดะ] และคำว่า สักยปุต์โต ควรจะถอดอักขะระว่า สะกยะตระกูล ไม่ใช่ ศากยตระกูล หรือ สักกยะตระกูล ตามหลักการถอดเสียงว่า [สะ-กยะ-ปุต-ตะ] เป็นต้น 
 

อักขะระสยาม-ปาฬิ และ อักขะระรัสเซีย-ปาฬิ​
ที่สร้างใหม่ 

การและปัจจุบันได้เพิ่มการถอดเสียง (Transcription) กำกับคำวิสามานยนาม เพื่อให้การแปลเป็นภาษาอื่นไม่เปลี่ยนเสียงเดิม เช่น อานัน์ท (Ānanda) จะเขียนว่า อานันดะ ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษารัสเซียจะเขียนว่า  а^ нaндa  (ดู การบัญญัติรูปอักขะระรัสเซีย-ปาฬิ ใน sajjhaya.org) โดยมีสัททะอักขะระไทย-ปาฬิ กำกับอยู่ในวงเล็บสัททอักษร [อา-นัน-ดะ] ซึ่งสามารถอ้างอิงเสียงสัชฌายะของแต่ละคำในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

3. การแปลในอดีตไม่มีตำแหน่งอ้างอิง

การแปลในอดีตผู้อ่านไม่สามารถทราบได้ถึงตำแหน่งของคำปาฬิ และคำแปล และไม่อาจทราบได้ว่ามีการแปลเกินหรือแปลขาดจากศัพท์ที่มีในพระไตรปิฎก เพราะขึ้นอยู่กับผู้แปลแต่ละคน การแปลปัจจุบันจัดพิมพ์การแปลตามลำดับคำอ้างอิงจากต้นฉบับปาฬิ และพิมพ์ภาษารัสเซียแบบคู่ขนานกับคำแปลภาษาไทย (ดูตัวอย่าง) ทำให้เห็นตำแหน่งของคำเพื่อศึกษาในรูปแบบไวยากรณ์ได้ เป็นการแปลครบกับจำนวนของคำ ทั้งมีการพิมพ์ตามระบบอ้างอิงย่อหน้าจากฉบับสังคายนาสากลนานาชาติ

สังเกต เลขข้อในพระไตรปิฎกสากล
และตำแหน่งคำ จากฐานข้อมูล

4. การแปลในอดีตไม่มีระบบฐานข้อมูล

ในอดีตเป็นการแปลจากพระไตรปิฎกที่เป็นสื่อหนังสือ แม้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดพิมพ์บทแปล แต่ก็ยังไม่มีการจัดทำเป็นฐานข้อมูลพระไตรปิฎกแปล ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงคำแปลกับต้นฉบับปาฬิภาสา และตำแหน่งในการอ้างอิงได้ นอกจากนี้เมื่อมีผู้แปลเป็นจำนวนมากย่อมไม่อาจควบคุมการใช้ศัพท์แปลที่มีเอกภาพได้ทั้งชุดพระไตรปิฎก นอกจากนี้ในอดีตนิยมแปลแบบโวหารสำนวนอย่างเดียว และเป็นการแปลแบบรวมความหมาย ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นคำแปลออกมาครบตามจำนวนคำหรือไม่ หรือมีคำแปลที่เกินมาเพื่อขยายความ

การแปลปัจจุบันเป็นระบบการแปลเป็นคำๆ เพื่ออ้างอิงจากฐานข้อมูลพระไตรปิฎกสากลดิจิทัล ซึ่งอ้างอิงได้กับพระไตรปิฎกปาฬิทุกฉบับที่สำคัญของโลกไม่น้อยกว่า 12 ฉบับ นอกจากนี้ระบบฐานข้อมูลทำให้สามารถจัดระเบียบการแปลได้หลายมิติ อาทิ สามารถแปลได้พร้อมกันหลายคนผ่านระบบออนไลน์ ทำให้บรรณาธิการสามารถตรวจสอบความถูกต้อง ความเป็นเอกภาพ และแสดงผลได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าการแปลเป็นคำๆ จะเป็นการอ้างอิงเบื้องต้น แต่เป็นพื้นฐานของการแปลที่ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป เช่น การแปลในระดับโวหารสำนวนที่มีเนื้อความสมบูรณ์ ที่สำคัญการแปลปัจจุบันมีการอ้างอิงจากรากศัพท์ในคัมภีร์อัฏฐกถา รวมประมาณ 154,667 คำ พร้อมทั้งอ้างอิงกับคัมภีร์ไวยากรณ์ปาฬิที่สำคัญ โดยเฉพาะกัจจายะนะ-ปาฬิ เรื่อง การออกเสียงละหุเสียงคะรุของทำคำศัพท์ประมาณ 9 ล้านพยางค์ในพระไตรปิฎกปาฬิทั้งชุด

การแปลพระธัมมบทเป็นภาษารัสเซียนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก ผู้แปลต้องศึกษาคำศัพท์และสำนวนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมพอสมควร ถึงกระนั้นการแปลพระธัมมบทที่ได้ดำเนินไปแล้วก็จัดได้ว่าประสบความสำเร็จ ด้วยมีการถ่ายทอดสาระของพระธัมมทบเป็นภาษารัสเซียได้อย่างครบถ้วน ปัญหาที่พบระหว่างการแปลคือปัญหาทางด้านเทคนิคการจัดการคำศัพท์ในระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งยังคงต้องมีการจัดระบบคำศัพท์ภาษาปาฬิและภาษารัสเสียในระบบฐานข้อมูลอีกพอสมควร ด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ

ประการแรก ผู้แปลขาดความรู้ปาฬิภาสา ถึงแม้ว่าจะแปลมาจากภาษาไทย แต่หากขาดความรู้ปาฬิภาสาแล้วก็ทำให้การแปลไม่สมบูรณ์ได้ ด้วยคำปาฬิภาสามีหลายวิภัติ หรือหลายรูป หรือ เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วมีการซ้ำกัน เช่น คำว่า “ตาย” ปาฬิภาสาใช้คำว่า “มียัน์ติ” และ “มตา” ส่วนคำว่า “ยาว” ปาฬิภาสา คือ “ทีฆา” “ทีโฆ” “ทีฆํ” เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถเลือกใช้คำที่ตรงความหมายได้ ในขณะเดียวกันคำว่า “ตาย” ในภาษารัสเซียก็มีหลายการก หรือ หลายคำ และแต่ละคำก็มีหลายรูป

ประการที่สอง คำภาษาไทยที่ให้มาเพื่อการแปลเป็นภาษารัสเซีย ส่วนหนึ่งไม่ใช่คำ แต่เป็นกลุ่มคำทำให้การแปลซับซ้อนยิ่งขึ้น อาจไม่สอดคล้องกับหลักการแปลโดยใช้ฐานข้อมูลคำศัพท์มาร้อยเรียงเป็นบท

ประการที่สาม คำหรือสำนวนที่ใช้ในการแปลพระธัมมบทใดๆ ก็ต้องใช้กับพระธัมมบทนั้นๆ เท่านั้น ด้วยภาษามีการกหรือกรณีคำนามคำเดียวแต่สามารถเปลี่ยนรูปตามพจน์ได้ 2 พจน์ เปลี่ยนตามการกได้ 6 การก ซึ่งเท่ากับคำว่าคำนามหนึ่งคำมีทั้งหมด 8 รูป โดยแต่ละรูปใช้ในกรณีที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ รวมทั้งคำคุณศัพท์ และคำกริยา ทำให้เป็นการยากที่จะจัดทำฐานข้อมูลคำพระธัมมบทในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียกคำเหล่านี้ไปใช้ได้ตรงตามความหมายในแต่ละพระธัมมบทได้ วิธีการหนึ่งที่ใช้แก้ไขปัญหานี้อาจจะใช้วิธีเดียวกับข้อแรก แต่ถ้านำไปใช้จริงคงแปลได้ไม่แตกต่างจากการใช้โปรแกรมแปลของกูเกิล

ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้ในเบื้องต้นคือการแปลเป็นรายบท ไม่ใช่รายคำหรือกลุ่มคำ เพื่อเผยแผ่ให้ผู้ที่ใช้ภาษารัสเซียได้ศึกษาธัมมะของพระพุทธองค์ก่อน ส่วนการพัฒนารูปแบบของพระไตรปิฎกนั้น ผู้มีศรัทธา และความเพียร ย่อมใช้สติปัญญาเลือกใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาข้อมูลได้สำเร็จในที่สุด

 

(ดร.รมย์ ภิรมนตรี)
ผู้อำนวยการศูนย์รัสเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2559

ตัวอย่างเสียง

 

ธัมมบท แปลรัสเซีย by Dhamma Society on Scribd