บรรพบุรุษบุนนาค กับ พระไตรปิฎก
บรรพบุรุษ 'บุนนาค' ในอดีต แม้มีถิ่นกำเนิดในแดนไกล เมื่อเดินทางมาสู่สุวัณณภูมิ (หรือ สุวรรณภูมิ) ก็ได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา
พ.ศ. 2167 ในพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์อยุธยาจะเสด็จยาตราไปสระบุรีเพื่อนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา ท่านผู้เป็นบรรพบุรุษบุนนาค ก็ได้โอกาสกราบบังคมทูลพระเจ้าทรงธรรมว่า ขอประกาศตนเป็นพุทธมามกะ เพื่อจะตามเสด็จพระมหากษัตริย์ขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท
ต้นตระกูลบุนนาค ตามเสด็จพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์อยุธยา
จาริกไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี
ตำนานประวัติศาสตร์ดังกล่าว แสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างตระกูลบุนนาค กับ พระราชา และ พระพุทธศาสนา ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมายาวนานมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่อนุชนรุ่นหลังจะได้พึงพิจารณา "โลกธัมม์ทั้ง ๘ ประการ" ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และ ความเสื่อมต่างๆ อันเป็นทุกข์ เพื่อเป็นประสบการณ์ อุทาหรณ์ และบทเรียนล้ำค่าของชีวิตต่อไป
พ.ศ. 2331 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสังคายนาพระไตรปิฎกได้สำเร็จ โดยจารปาฬิภาสา (เดิมเรียกภาษาบาลี) ด้วยอักษรขอมลงบนใบลาน ประมาณ 50,000 ลาน เจ้าพระยาอรรคเสนา (บุนนาค) ตำแหน่งสมุหกลาโหม ก็เป็นผู้สร้างตู้มณฑปไม้ประดับมุกถวายสำหรับประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อเป็นศูนย์กลางพระปริยัติธัมม์ของชาติไทย
ตู้พระธัมม์ทรงมณฑป เครื่องไม้ลงรักประดับมุกไฟ กล่าวกันว่าเป็นสุดยอดของฝีมือช่างศิลป์ไทย โดยเจ้าพระยาอรรคเสนา (บุนนาค) สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในรัชกาลที่ 1 เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก ปาฬิภาสา อักษรขอมใบลาน
พระมณฑปในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สถานที่ประดิษฐาน
ตู้พระไตรปิฎกที่สร้างถวายโดยบรรพบุรุษบุนนาค
พระไตรปิฎกใบลานอักษรขอมชุดนี้ คือ ชุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ปริวรรตอักษร (Transliteration) จาก อักษรขอม-ปาฬิ เป็น อักษรสยาม-ปาฬิ และ จัดพิมพ์เป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎก ปาฬิภาสา-อักษรสยาม ชุด 39 เล่ม นับเป็นชุดหนังสือพระไตรปิฎกชุดแรกของโลก
กาลเวลาผ่านมาอีกหนึ่งศตวรรษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ก็ได้ทรงมีพระบัญชาให้ลูกหลานบุนนาค เป็นผู้ดำเนินโครงการตรวจทานและจัดพิมพ์ฉบับ ปาฬิภาสา - อักษรโรมัน สำเร็จเป็นชุดอักษรโรมันที่สมบูรณ์เป็นชุดแรก 40 เล่ม พ.ศ. 2548
ซึ่งปัจจุบันคณะทำงานได้ก่อตั้งเป็นกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
วันก่อตั้ง สนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกสากล
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร องค์พระสังฆราชูปถัมภ์โครงการพระไตรปิฎกสากล ทรงพระเมตตาให้ฉายพระรูป กับ คณะผู้ก่อตั้งโครงการพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. ๒๕๔๒ นำโดยมิตรสหาย ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ (สนิทวงศ์) บุนนาค (ประธานกองทุนสนทนาธัมม์นำสุขฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ฯ) อาทิ ม.ล. ประพันธุ์ สนิทวงศ์ (กุลเชษฐ์ราชสกุลสนิทวงศ์), คุณประภา บุนนาค (กุลเชษฐ์ราชินิกุลบุนนาค), คุณหญิงนพรัตน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, แพทย์หญิง ม.ล. ดารัตน์ สวัสดิกุล, คุณประไพ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์, คุณหญิงพรรณี ศิริวรรณ, ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ศักดิ์ชัย ลิ้มทองกุล, คุณหญิงกิ่งแก้ว เอื้อทวีกุล, อาจารย์รัตนา วิชญาณรัตน์ และ อาจารย์สิริ เพ็ชรไชย ป.ธ. 9 ประธานโครงการพระไตรปิฎกสากล
คุณหญิงเยาวนาถ (บุนนาค) ไทยวัฒน์ ทายาทคุณประภา บุนนาค หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการพระไตรปิฎกสากล และผู้อุปถัมภ์กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร พ.ศ. 2542
(รูปขวาบน) จากการศึกษาค้นคว้าโดยมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. ๒๔๓๖ ชุด ๓๙ เล่ม ถือเป็นต้นฉบับการพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎก ปาฬิภาสา ชุดพิมพ์ชุดแรกของโลก ซึ่งทำให้เกิด ฉบับอักษรโรมัน พ.ศ. ๒๕๔๘ ชุด ๔๐ เล่ม ซึ่งเผยแผ่เป็นพระธัมมทาน ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และล่าสุด การถอดเสียงปาฬิ เป็น ฉบับสัชฌายะ (Phonetic Edition) ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. พ.ศ. ๒๕๕๙ ชุด ๘๐ เล่ม ในรัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงเป็นองค์ประธานการจัดพิมพ์ในปัจจุบัน
ตัวอย่าง
ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. ebook
The King's Edition Anthology
(กดดูตัวอย่าง Ebook)
ฉบับสัชฌายะ ชุด ส.ก ebook
The Queen's Edition Anthology
(กดดูตัวอย่าง Ebook)
ระหว่างดำเนินงานใน พ.ศ. 2545 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรัชกาลที่ 9 ทรงทราบเรื่องโครงการพระไตรปิฎกสากล ซึ่งจะเผยแผ่ไปในนานาประเทศตามรอยพระไตรปิฎก จ.ป.ร. ฉบับอักษรสยาม ก็ทรงสนพระทัยเสด็จฯ มาทรงฟังปาฐกถาพระไตรปิฎกสากล และทอดพระเนตรต้นฉบับอักษรสยามชุดประวัติศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งปาฐกถาได้ประกาศข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า พระไตรปิฎกปาฬิภาสา ฉบับอักษรสยาม พ.ศ. 2436 ชุดนี้ นอกจากเป็นชุดหนังสือที่ตีพิมพ์สำเร็จเป็นชุดแรกของโลกแล้ว ยังเป็นชุดที่เขียนเสียงปาฬิในทางภาษาศาสตร์ที่ก้าวล้านำยุคอีกด้วย ปัจจุบันได้พบว่าได้มีเก็บรักษาไว้ในหอสมุดสำคัญทั่วโลก
สมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์โครงการพระไตรปิฎกสากล หลังจากเสด็จฯ มาทรงฟังปาฐกถาพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช
ปัจจุบันกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์สื่อการพิมพ์ได้ถวายลิขสิทธิ์ดังกล่าว แด่คณะสงฆ์วัดอมราวดี สหราชอาณาจักร เพื่อเผยแผ่การพิมพ์เป็นมาตรฐานสากล
ฉบับอักษรโรมัน เป็นต้นฉบับการถอดเสียงปาฬิ
เพื่อจัดพิมพ์เป็นฉบับสัชฌายะ
บุคคลสำคัญที่เป็นเหตุให้เกิดการเผยแผ่ครั้งสำคัญนี้ก็คือ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ผู้ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการผู้จัดทำพระไตรปิฎกอักษรสยาม ซึ่งเมื่อท่านได้ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของความสำเร็จของการจัดพิมพ์ดังกล่าวแล้ว จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระไตรปิฎกที่ทรงสร้างนี้ยิ่งใหญ่นัก ไม่มีผู้ใดได้ทำสำเร็จมาก่อนในสากลโลก ขอได้โปรดพระราชทานเป็นพระธัมมทานจากกรุงสยามไปทั่วโลกเถิด ซึ่งก็มีบันทึกในพระราชหัตถเลขาเก็บอยู่ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติว่า "..ถูกใจจริง.." และก็ได้โปรดให้สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (เทวกุล) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสยาม เป็นผู้จัดส่งพระไตรปิฎกไปทั่วโลก โดยส่งทางเรือไปยังสถานทูตกรุงลอนดอน แล้วจึงจัดการกระจายส่งไปยังหอสมุดมหาวิทยาลัยสำคัญของโลกในยุคนั้น ไม่น้อยกว่า 250 สถาบัน ใน 5 ทวีป กล่าวได้ว่าเป็นการเผยแผ่พระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทีเดียว
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็น เสนาบดีกระทรวงธรรมการ และคณะกรรมการสร้างพระไตรปิฎก ปาฬิ ฉบับอักษรสยาม เป็นผู้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้พระราชทานเป็นพระธัมมทานไปทั่วโลก
ปัจจุบันหอสมุดชั้นนำที่เก่าแก่ของโลกเหล่านี้ยังเก็บรักษาพระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม อยู่เป็นอย่างอย่างดี ในทวีปยุโรปได้แก่ หอสมุด Carolina Rediviva, Uppsala University, Sweden; Oslo University, Norway; Royal Library, University of Copenhegen และ Cambridge University, UK.
พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม ในหอสมุดประเทศเดนมาร์ก
ดูตัวอย่าง Ebook
เล่มประมวลเนื้อหาฉบับอักษรสยาม
นอกจากนั้นกระทรวงต่างประเทศสยาม ยังสามารถส่งพระไตรปิฎกธัมมทานข้ามไปยังทวีปอเมริกา และ ออสเตรเลียอีกด้วย ได้แก่ University of Melbourne, Australia ส่วนสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ได้รับพระราชทานมากที่สุดในโลก คือ ประมาณ 50 ชุด หนึ่งในมหาวิทยาลัยสำคัญ คือ Princeton University มหาวิทยาลัยนามอุโฆษ ซึ่งมีปรมาจารย์ทางวิชาการฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยได้รับรางวัล Nobel Prize ไม่น้อยกว่า 26 คน รวมทั้งล่าสุดในปี พ.ศ 2567 นี้ด้วย ปัจจุบันหอสมุด Firestone อันเลื่องชื่อของมหาวิทยาลัย ก็ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลทางบรรณารักษศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ พระไตรปิฎก จ.ป.ร ฉบับอักษรสยามธัมมทานของไทย ครบชุด ซึ่งครั้งนั้นแบ่งเป็นชุด 39 เล่ม
ข้อมูลเหล่านี้ โครงการพระไตรปิฎกสากล ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทุกประการ
ด้วยเหตุนี้ปาฐกถาหน้าพระที่นั่งครั้งนั้น จึงได้ถวายพระสมัญญาพระเจ้ากรุงสยามผู้โปรดให้สร้างพระไตรปิฎกชุดนี้ว่า จุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช และ พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช
ในการนี้ ผู้ใหญ่ในสายสกุลบุนนาค อาทิ พลเอกบรรจบ บุนนาค และ ร.ต. สำเร็จ บุนนาค ผู้ล้วนเป็นทายาทในสายสกุลบุนนาคและเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในงานปาฐกถาด้วย
พ.ศ. 2566 เป็นวาระครบ 100 ปี วันพระราชสมภพสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประชาคมโลก โดย UNESCO ถวายพระเกียรติทรงเป็น The Eminent Personality of the World, 2023. กล่าวได้ว่าพระราชกิจระดับนานาชาติที่สำคัญคือการจัดพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกสากล ฉบับอักษรโรมัน พ.ศ. 2548 ชุดสมบูรณ์ชุดแรกของโลก ซึ่งได้พระราชทานแก่หอสมุดสำคัญที่เคยได้รับพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราชเมื่อศตวรรษที่แล้ว
• ภูมิปัญญาพระไตรปิฎกไทยสากล
2436 พ.ศ. 2567 เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า ในปีนี้ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาพระไตรปิฎกไทยสากล ได้เวียนกลับมาโดดเด่นอีกวาระหนึ่ง เมื่อกระทรวงการต่างประเทศไทย ซึ่งในอดีตสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (เทวกุล) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสยาม เป็นผู้จัดส่งพระไตรปิฎกฉบับ จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436 ไปจัดพระราชทานแก่หอสมุดสำคัญทั่วโลกไม่น้อยกว่า 250 สถาบัน ในปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศไทยได้ดำริจัดโครงการเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระ 6 รอบ วันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล จะดำเนินการมอบพระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. ชุด 80 เล่ม แก่นานาประเทศทั่วโลก พระไตรปิฎกสัชฌายะชุดนี้มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ได้ทำการจัดพิมพ์โดยอ้างอิงกับ ฉบับจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช (จ.ป.ร. อักษรสยาม พ.ศ. 2436) ด้วยวิธีการถอดเสียงปาฬิภาสา (Pāḷi Transcription) จาก ฉบับอักษรสยาม และพิมพ์ด้วย อักษรเสียง (Pāḷi Phonetic Alphabet) โดยพิมพ์เป็น ฉบับ ภ.ป.ร. ชุด 40 เล่ม และยังบูรณาการต่อยอดทางสหวิชาการ เรียงพิมพ์เป็น ชุด ส.ก. หรือ ชุดพระไตรปิฎกโน้ตเสียงปาฬิ - เสียงวรรณยุกต์สามัญ ชุด 40 เล่ม (Pāḷi Monotone Music Notation Edition) ในทางดุริยางคศาสตร์ประยุกต์ อีกด้วย
การสร้างพระไตรปิฎกปาฬิ ด้วยการเรียงพิมพ์ด้วย สัทสัญลักษณ์ในทางดุริยางคศาสตร์ ยังไม่เคยมีผู้ใดได้จัดทำมาก่อน
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ที่พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาอันประเสริฐ ทรงเป็นองค์ประธานการพิมพ์ ตามคำกราบบังคมทูลของท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ ประธานก่อตั้งมูลนิธิพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2559
ในระหว่างปี พ.ศ. 2567 - 2568 กระทรวงการต่างประเทศไทย จะดำเนินการประสานกับสถานทูตไทยในต่างประเทศทั่วโลก เพื่อจัดมอบฉบับสัชฌายะ แก่หอสมุดสำคัญในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสถาบันทางภูมิปัญญาในนานาประเทศ ที่เคยได้รับพระราชทานพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช พ.ศ. 2436 ชุด 39 เล่ม เมื่อศตวรรษที่แล้ว และปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศจะมอบแก่ 30 ประเทศ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการ (The Royal State Visit) ตลอดระยะเวลาทรงครองสิริราชสมบัติอันยาวนาน 70 ปี ในรัชกาลที่ 9
เผยแผ่พระไตรปิฎกเป็นพระธัมมทาน
ตามรอยพระราชไมตรีในพระมหากษัตริย์พุทธมามกะ
สำหรับการเยผแผ่พระไตรปิฎกสัชฌายะในประเทศไทย จะมีพิธีถวายฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ชุด ส.ก. ดังกล่าว ณ พระอุโบสถวัดศรีสุริยวงศ์ ในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 10.00 น. ตามความปรารภของพระเดชพระคุณเจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศ์ ผู้เป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ผ่ายบรรพชิตในโครงการเผยแผ่พระไตรปิฎกสัชฌายะ โดยน้อมถวายในวาระ 150 ปี การสถาปนาวัดศรีสุริยวงศาราม วรวิหาร ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สร้างพระอารามนี้ ณ กลางเมืองจังหวัดราชบุรี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชทานนามว่า "วัดศรีสุริยวงศ์"
พระไตรปิฎก จ.ป.ร. อักษรสยาม ที่เก็บรักษา ณ วัดศรีสุริยวงศ์
ได้รับพระราชทานเมื่อ พ.ศ. 2437 หลังการสถาปนาวัด 20 ปี
พิธีถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะ ณ วัดศรีสุริยวงศ์ จัดโดยผู้มีจิตศรัทธา ได้แก่ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล (องค์กรผู้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เผยแผ่ ชุด ภ.ป.ร. และ ส.ก.) ร่วมกับ กองทุนสนทนาธัมมนำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวังวร (ผู้จัดทำต้นฉบับพระไตรปิฎกสากล พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน), พร้อมด้วย โรงเรียนสยามสามไตร (องค์กรการศึกษาวิธีพุทธตามพระไตรปิฎกสากล), ผู้แทนสมาชิกสายสกุลบุนนาค (ผู้อุปถัมภ์การพิมพ์พระไตรปิฎกสากล), ผู้แทนนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา พ.ศ. 2518 (ผู้มีจิตศรัทธาเผยแผ่พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุด ภ.ป.ร. และ ส.ก. ตามรอยประวัติศาสตร์ ฉบับ จ.ป.ร. ในนานาประเทศทั่วโลก)
ปัจฉิมลิขิต
จาก วัดศรีสุริยวงศ์ ไปสู่ วาติกัน
ดูตัวอย่าง Ebook
เล่มประมวลเนื้อหาฉบับอักษรโรมัน
พระไตรปิฎกสากล ฉบับสัชฌายะ ชุดนี้ กระทรวงการต่างประเทศไทย ได้ร่วมกับ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล ดำเนินการมอบไปในนานาประเทศ เนื่องในวาระปีมหามงคล 6 รอบ เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2567 โดยอัญเชิญไปถวายแด่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ณ นครรัฐวาติกัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
ประดิษฐานพระไตรปิฎกสัชฌายะ ณ วาติกัน
เป็นที่น่าปลื้มปีติอย่างยิ่งที่คณะพระคาทอลิกเข้าใจในพระไตรปิฎกธัมมทานจากราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะ โน้ตเสียงพระไตรปิฎกปาฬิ ชุด ส.ก. - เสียงวรรณยุกต์สามัญ (The Pāḷi Monotone Music Notation) ซึ่งสร้างสรรค์และจัดพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรก ดังนั้น Dr. Timothy Janz นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต้นฉบับพระคัมภีร์โบราณแห่งหอสมุดวาติกัน จึงได้กราบเรียน พระราชพุทธิวรคุณ (Amaro Bʰikkʰu) เจ้าอาวาสวัดอมราวดี สหราชอาณาจักร โดยปรารภขอต้นฉบับ "พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน" ในสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งใช้อ้างอิงและถอดเสียงปาฬิ เป็น ฉบับ ส.ก. สำหรับเก็บรักษา ณ หอสมุดวาติกัน เป็นพิเศษอีกชุดหนึ่ง ด้วย
ส่วนหนึ่งของคำกล่าว พระราชพุทธิวรคุณ (อมโร ภิกขุ)
.. I think the the Vatican Library is probably the most significant resource in the Christian World. There might be others but I think they have 80 kilometers of bookshelves so this Tipiṭaka Edition will be helping to fill those. I feel very very happy to be able to support this offering. ..
เมื่อกองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ได้รับทราบความประสงค์ดังกล่าว จึงน้อมถวายฉบับอักษรโรมัน ชุด 40 เล่ม ซึ่งจัดพิมพ์เป็นพิเศษด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลคุณภาพสูง แด่ พระราชพุทธิวรคุณ (Amaro Bʰikkʰu) เจ้าอาวาสวัดอมราวดี สหราชอาณาจักร เพื่อท่านจักได้อัญเชิญกลับไปส่งมอบเป็นพระธัมมทานจากประเทศไทย อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 - 2568 ด้วย
ในการนี้ กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล. มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร จึงได้กราบเรียนเชิญคุณจิตติมา (บุนนาค) แพ่งสภา ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายสายสกุลบุนนาค เป็นประธานกิตติมศักดิ์การเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลในสายสกุลบุนนาค เป็นประธานผู้มีจิตศรัทธาอุปัฎฐากเจ้าอาวาสวัดอมราวดี และคณะสงฆ์วัดป่านานาชาติในยุโรป ในการอัญเชิญพระไตรปิฎกสากล ฉบับอักษรโรมัน ชุดพิเศษชุดนี้ ไปส่งมอบเป็นพระธัมมทานด้วย
จึงเรียนมาเพื่อท่านที่เข้าร่วมพิธีถวายพระไตรปิฎกสัชฌายะ ณ วัดศรีสุริยวงศ์ ได้รับทราบ และร่วมกันอนุโมทนา
สมาชิกสายสกุลบุนนาค ที่ประสงค์จะร่วมจาริกไปมอบพระไตรปิฎกสัชฌายะในนานาประเทศ กรุณาแจ้งความจำนง และสอบถามรายละเอียดที่คุณจงพิศ บุนนาค และคณะ
สืบค้น สาระการมอบพระไตรปิฎกสัชฌายะ ที่ sajjhaya.org Vatican
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมมอบฉบับสัชฌายะ ณ วาติกัน)
email: [email protected]
สืบค้นเพิ่มเติม หนังสือ ปฐมจุฬาราชมนตรี
จากเปอร์เซียถึงกรุงศรีอยุธยา
โดย พิทยา บุนนาค