นวัตกรรมในพระไตรปิฎกสากล

 

นวัตกรรมในพระไตรปิฎกสากล อาจสรุปรวมได้ 5 ประการ คือ

1. นวัตกรรมการเรียงพิมพ์
การเรียงพิมพ์ปาฬิภาสาเป็นพระไตรปิฎกสากล เช่น ฉบับอักขะระโรมัน และฉบับสัททะอักขะระปาฬิ ทำให้เกิดความเป็นสากลของพระไตรปิฎกมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้นานาประเทศทั่วโลกสามารถศึกษาต้นฉบับเสียงปาฬิ (Pāḷi Manuscript B.E. 2500) จากการสังคายนานานาชาติ พ.ศ. 2500 ที่เดิมจำกัดอยู่ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยเฉพาะกับอักขะระโบราณ โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นสัททสัญลักษณ์ ได้แก่ โน้ตเสียงปาฬิ ในฉบับสัชฌายะ เป็นต้น

2. นวัตกรรมการแสดงผล
การแสดงผลปาฬิภาสาทั้งรูปเสียงและรูปศัพท์ในระบบดิจิทัล ทำให้เกิดการศึกษาพระไตรปิฎกสากลที่สะดวกและง่ายขึ้นด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น การสืบค้นจากฐานข้อมูลสามารถช่วยให้เกิดการศึกษาพระไตรปิฎกในระดับนานาชาติ (International Tipiṭaka Studies) ซึ่งจะพัฒนาไปในระบบที่เรียกว่า Online Streaming ซึ่งสามารถสืบค้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3. นวัตกรรมการเขียนโน้ตเสียงปาฬิ
การเขียนโน้ตเสียงปาฬิทางดุริยางคศาสตร์ในฉบับสัชฌายะ ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในทางสหวิทยาการ (Integration of Interdisciplines) เช่น สัททะอักขะระในทางภาษาศาสตร์ และโน้ตเสียงปาฬิในทางดุริยางคศาสตร์ พร้อมทั้งการนำเสนอเสียงดิจิทัลสัชฌายะในทางวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เดิมมุ่งเน้นแต่เฉพาะการแปลศัพท์ปาฬิในอดีต โดยเพิ่มเป็นการศึกษาเสียงปาฬิ และการออกเสียงปาฬิผ่านเทคโนโลยีทางเสียง ซึ่งกำลังพัฒนาขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

4. นวัตกรรมเสียงปาฬิดิจิทัล
เสียงปาฬิดิจิทัลในพระไตรปิฎกฉบับสัชฌายะ ทำให้เกิดการผลิตและเผยแผ่พระไตรปิฎก ในฐานะคลังอารยธรรมทางปัญญาในสื่อสารสนเทศใหม่ๆ ซึ่งทำให้ลดต้นทุนการแสวงหาข้อมูล และต้นทุนการผลิต (Information and Transaction Cost) ในทางเศรษฐกิจ และเปิดมิติใหม่ในการนำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะอย่างมหาศาลที่มิอาจประเมินได้ เช่น ผลกระทบที่เป็นประโยชน์ในทางสุขภาพของประชากรมนุษย์ หรือที่ปัจจุบันมีการศึกษากันในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Quantum Biology เพื่อสร้างเสริมปัจจัยแห่งความสุขของมนุษยชาติ เป็นต้น

5. นวัตกรรมการสร้างฐานข้อมูลดิจิทัล
ฐานข้อมูลดิจิทัลของพระไตรปิฎกสากล ทำให้เกิดพัฒนาการต่อยอดในระดับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะการสังเคราะห์พยางค์เสียงดิจิทัลสัชฌายะ ซึ่งกำลังเป็นแนวทางสำคัญของเทคโนโลยีทางเสียงในอนาคต ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดสืบค้นเสียงสัชฌายะและสร้างระบบการถามตอบปัญหาธัมมะในพระไตรปิฎกโดยอัตโนมัติ