บทนำพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน

พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน

พันตรี สุรธัช บุนนาค สัทธิวิหาริกนาคหลวงและนายก กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์ แจ้งว่าจะพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาปาฬิ อักษรโรมัน ฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของโลกขึ้นในประเทศไทย ให้ตรงตามมติที่แท้จริงของการสังคายนานานาชาติครั้งใหญ่และครั้งเดียวของโลกในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยพระเถรานุเถระในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท จากนานาประเทศ ๒,๕๐๐ รูป ทั้งนี้เพื่อมอบเป็นธัมมทานจำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๔๐ เล่ม แก่สถาบัน การศึกษาสำคัญนานาชาติทั่วโลก

อาตมภาพขออนุโมทนาสาธุการที่ร่วมใจกันขนานนามพระไตรปิฎกฉบับนี้

(เป็นภาษาปาฬิ หรือเขียนทับศัพท์ ปาฬิภาสา-อักษรโรมันว่า) 
Mahāsaṅgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500
(The World Tipiṭaka)

เรียกเป็นภาษาไทยว่า
พระไตรปิฎกมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ 
(พระไตรปิฎกสากล)

 

พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์รวบรวมพระพุทธวจนะ อันเป็นคำสอนแสดงธัมมะเพื่อดับทุกข์ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จำแนกออกเป็น พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธัมมปิฎก มีพระธัมมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ พระธัมมขันธ์

พระพุทธองค์ตรัสไว้ในกาลสมัยใกล้เสด็จดับขันธปรินิพพานว่า :

ānanda, mayā dhammo ca vinayo ca desito paññatto, 
so vo mamaccayena satthā...

(Mahāsaṅgīti Tipiṭaka Buddhavasse 2500 7D2:484)

ดูกรอานันทะ, ธัมมะและวินัยใดที่เราได้แสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย 
ธัมมะและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป... 

(ทีฆนิกาย มหาวัคค์ มหาปรินิพพานสูตร ภาคแปล)  

     

เพราะเหตุฉะนี้ พระมหาเถระที่เป็นพระอรหันตขีณาสพ จำนวน ๕๐๐ รูป มีพระ  มหากัสสปอรหันตเถระเป็นประธาน จึงได้รวบรวมพระพุทธวจนะเป็นพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรก ณ นครราชคฤห์ ในชมพูทวีป เรียกว่าปฐมมหาสังคายนาและมีการสังคายนาต่อๆ มา เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนทั่วโลกนับถือพระไตรปิฎกเป็นพระบรมศาสดา การสังคายนาและสร้างพระไตรปิฎกจึง เป็นมหากุศลยิ่งใหญ่

ในระหว่างปีพระพุทธศักราช ๒๔๙๗-๒๔๙๙ มิตรประเทศของไทยที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้แก่ ศรีลังกา พม่า กัมพูชา และลาว ได้ร่วมจัดการสังคายนาพระไตรปิฎก ด้วยเจตน์จำนง ที่จะจัดทำพระไตรปิฎกปาฬิฉบับสากลที่รับรองร่วมกันของฝ่ายเถรวาท ได้อาราธนา พระเถรานุเถระผู้ชำนาญพระปาฬิ จากนานาประเทศทั่วโลกไปร่วมสังคายนาพระไตรปิฎกที่นครย่างกุ้ง 

อาตมภาพและคณะสงฆ์ไทยได้ไปร่วมสังคายนาด้วย โดยมติของคณะสังฆมนตรีซึ่งรัฐบาล ไทยอุปถัมภ์ ในการนี้สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังนครย่างกุ้งในปีพระพุทธศักราช ๒๕๐๓ เพื่อทรงอนุโมทนาการสังคายนาร่วมกับประมุขของนานาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ในบรรดาข้าราชบริพาร มีท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินด้วย

บัดนี้  ได้มีการปริวรรตอักษรที่พิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับมหาสังคายนาสากลนานาชาติ ครั้งสำคัญฉบับนี้ จากต้นฉบับภาษาปาฬิเป็นอักษรโรมัน  ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้อนุโมทนาและเป็นประธานอุปถัมภ์การพิมพ์เผยแผ่ให้แพร่หลายในนานาอารยประเทศ เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์พุทธมามกะแห่งสยามประเทศทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ ในปีพระพุทธศักราช ๒๕๔๒

อาตมภาพขออนุโมทนาสาธุการในมหากุศลนี้ และขออัญเชิญอานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อานุภาพแห่งพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธัมมขันธ์ พร้อมทั้งอานุภาพแห่งพระสยาม เทวาธิราช และพรหมเทพเทวาทั้งหลายในสากลจักรวาล ได้ดลบันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี เกิดเป็นพระพรชัยมงคลน้อมถวายสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมธัมมิกมหาราช พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สองพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้ทรงมีพระราชหฤทัยเลื่อมใสใน พระบวรพุทธศาสนา ให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ 

ขอมหากุศลนี้จงเป็นกุศลเหตุให้พรหมเทพเทวา มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ร่วมอนุโมทนาสาธุการผู้บริจาคทรัพย์เป็นธัมมทาน และผู้ร่วมงานสร้างพระไตรปิฎกมหาสังคายนาสากลนานาชาติ พ.ศ. ๒๕๐๐ ฉบับอักษรโรมัน ฉบับแรกของโลก ที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทยนี้ เพื่อได้มีความสุขความเจริญทั่วกัน เทอญ. 

 

 

(สมเด็จพระญาณสังวร)

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันที่ ๓๐ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๕๔๒
แก้ไขวันที่ ๒๕ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๕๔๕
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

พระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน by Dhamma Society on Scribd